WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

วัดเชิงเลน

ตั้ง อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก หมู่ที่ ๘ ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด นนทบุรี เนื้อที่ ๑๖ ไร่ สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานในการสร้างที่ชัดเจน สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นพร้อมกับวัดท้ายอ่าว และวัดเชิงท่า ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก
ต่อมากรมชลประทานได้ย้ายหน่วยงานบางส่วนมาจากแขวงสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ มาตั้งที่ อ.ปากเกร็ด และ อ.เมือง จึงเวนคืนที่ดินตั้งแต่ที่ติด กับถนนติวานนท์ฝั่งตะวันตกจรดถึงแม่น้ำเจ้าพระยา วัดท้ายอ่าวและวัดเชิงท่า อยู่ในเขตพื้นที่เวนคืนที่ดินของกรมชลประทาน ประกอบด้วยไม่มีพระภิกษุ และสามเณรจำพรรษา กรมการศาสนาจึงประกาศยกเลิกวัดท้ายอ่าว และวัดเชิงท่า ต่อมาภายหลังวัดท้ายอ่าว ชาวบ้านพากันเรียกชื่อใหม่ว่า วัดหน้าโบสถ์บ้าง วัดหลวงพ่อเสือบ้าง

แต่วัดนี้ยังมีถาวรวัตถุคงสภาพสมบูรณ์อยู่ กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนประกาศเป็นโบราณสถาน แต่วัดเชิงท่าได้เสื่อมโทรมลงมาเรื่อยๆ ตามกาลเวลา ปัจจุบันเหลือแต่ซากปรักหักพัง
ส่วนวัดเชิงเลน ยังมีพระภิกษุจำพรรษาเรื่อยมา โดยมีตระกูล นุ่มไทย เป็นผู้ให้ความอุปถัมภ์ ต่อมาได้รับพระราชทาน
นามสกุลใหม่ในราชทินนาม “เนติลักษณะวิจารณ์” จนถึงสมัยพระภิกษุสังข์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเชิงเลน ได้ร่วมกับทางราชการเปิดโรงเรียนประชาบาล เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๖ โดยใช้สถานที่ภายในวัดเชิงเลน และได้ตั้งชื่อว่า โรงเรียนวัดเชิงเลน เปิดเรียนปีแรกมีนักเรียน ๙๐ คน แบ่งนักเรียนเป็นจำนวน ๔ ชั้นเรียน คือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึง ๔ โดยใช้ศาลาการเปรียญวัดเชิงเลนเป็นสถานที่เรียน มีสามเณรหริ่งเป็นครูสอน ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดเชิงเลน พระอธิการสังข์ได้บูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะวัดเชิงเลน และปฏิบัติกิจพระศาสนานานพอสมควรก็มรณภาพลง
เมื่อพระอธิการสังข์มรณภาพ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเชิงเลนก็ว่างลง พระครูนนทคุณพิพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดท่าอิฐ ได้ส่งพระฟุ้ง ไทรนนท์ มาดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสท่านได้อุปการะโรงเรียนสืบมา และได้บูรณะปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ ซ่อมแซมเสนาสนะต่างๆ ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่นี้
นักเรียนก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ศาลาการเปรียญที่ใช้สอนหนังสือก็ไม่เพียงพอ ท่านจึงแบ่งเนื้อที่ของวัดประมาณ ๒ ไร่ เพื่อขยายโรงเรียน ต่อมาเจ้าอาวาสวัดท่าอิฐ มีดำริที่จะย้ายสถานีอนามัยที่อยู่วัดท่าอิฐ มาตั้งที่วัดเชิงเลน ท่านได้แบ่งเนื้อที่ ของวัดประมาณ ๑๕๐ ตารางวา เพื่อสร้างสถานีอนามัย พระอธิการฟุ้้งได้เรื่อยมาจนมรณภาพลง
หลังจากพระอธิการฟุ้งมรณภาพลงแล้ว พระครูนนทสารวิสิทธิ์ เจ้าอาวาสวัดกลางเกร็ด ได้มอบหมายให้พระเงิน มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อพระเงิน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ไม่มีการสร้างเสนาสนะขึ้นมาใหม่ ได้แต่ซ่อมแซมเสนาสนะที่มีอยู่ ประกอบกับพระอธิการเงินท่านอยู่ในวัยชราและสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ท่านจึงมอบหมายให้พระประเสริฐ อมโร ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือการงาน และในปีนั้น พระประเสริฐ อมโร ได้บูรณะปฏิสังขรณ์อุโบสถที่ชำรุดทรุดโทรมขึ้นมาใหม่ โดยมีตระกูล นุ่มไทย และประชาชนทั่วไปร่วมกันบริจาคทรัพย์ และซ่อมแซมเสนาสนะ ในวัดเชิงเลนตลอดมา
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ พระอธิการเงิน ได้เสนอแต่งตั้ง พระประเสริฐ อมโร เป็นรองเจ้าอาวาสเพื่อปฏิบัติภารกิจหน้าที่แทน ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ พระอธิการเงินได้ลาสิกขาบท พระประเสริฐ อมโร ได้ทำหน้าที่รักษาการแทนเจ้าอาวาส และสร้างกุฏิสงฆ์ ๒ ชั้น ๓๐ ห้อง ห้องน้ำและห้องสุขา ๒๐ ห้อง และได้พัฒนาวัดเจริญรุ่งเรืองให้เป็นที่รู้จักของประชาชนททั่วไป เพราะเมื่อครั้งอดีตนั้น วัดเชิงเลนเป็นวัดที่ขาดผู้นำในการพัฒนาจนชำรุดทรุดโทรม แทบจะกลายเป็นวัดร้าง มีพื้นที่อยู่ในบริเวณสวน ไม่มีหนทางเข้าออก คงใช้การสัญจรทางน้ำได้เดียว กอปรกับเป็นวัดที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ท่ามกลางประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม
ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ พระประเสริฐ อมโร ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเชิงเลน และได้รับสมณศักดิ์ฐานานุกรมในเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ที่ พระปลัดของพระเทพปริยัตยาจารย์ เจ้าคณะนนทบุรี เจ้าอาวาสวัดเฉลิมพระเกียรติ เป็นพระปลัดประเสริฐ อมโร ได้ดำเนินการสร้างศาลาการเปรียญ ๒ ชั้น แล้วเสร็จประมาณ ๙๕% และปรับพื้นที่ใช้สอยบริเวณวัดโดยการถมดิน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๙ ล้านบาทเศษ ได้อุปถัมภ์โรงเรียนวัดเชิงเลน และสถานีอนามัย ในส่วนต่างๆ อาทิ การช่วยเหลือในการปรับพื้นที่ การช่วยต่อเติมอาคารเรียนที่สร้างขึ้นมาใหม่ ปัจจุบันวัดเชิงเลนได้ดำเนินการก่อสร้างฌาปนสถาน เพื่อให้ประชาชนใกล้เคียงได้ประกอบการฌาปนกิจ ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ
ในด้านการศึกษา วัดเชิงเลนได้ส่งเสริมการศึกษาให้แก่พระภิกษุสามเณรภายในวัด และกุลบุตร กุลธิดา โดยได้เปิดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรมบาลี ธรรมศึกษา ตลอดถึงศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มีนักเรียนทั้งสิ้น ๕๐๐ คน
ด้านกิจกรรมและการเผยแพร่ ได้ทำการฝึกอบรมให้ความรู้แก่นักเรียนในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพสตรี บ้านเกร็ดตระการตลอดปี ในเดือนเมษายนจัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน โดยแต่ละปีมีเยาวชนเข้าร่วมบรรพชา ปีละประมาณ ๒๐๐ - ๓๐๐ คน ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา มีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม ประมาณ ๑๐๐ - ๒๐๐ คน ในส่วนของกิจกรรมวันสำคัญของชาติ ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ได้จัดให้มีการบวชเนกขัมมะ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ มีประชาชนเข้าร่วม ประมาณ ๕๐ - ๘๐ คน
ขณะนี้วัดเชิงเลน สามารถให้การคมนาคมได้ ๒ ทาง คือ ทางบก และทางน้ำ ในทางบกนั้น มีถนนคอนกรีตจากถนนรัตนาธิเบศร์ ซอยท่าอิฐ - วัดเชิงเลน ในส่วนของทางน้ำนั้น สามารถลงเรือได้ที่ท่าน้ำปากเกร็ด ท่าน้ำกรมชลประทาน ท่าน้ำวัดตำหนักใต้

การเดินทาง

1. รถประจำทาง สาย ๑๘ (อนุสาวรีย์ - ท่าอิฐ) ลงที่ตลาดท่าอิฐ และนั่งรถสองแถว (วัดเชิงเลน - พระนั่งเกล้าฯ) เข้าถึงวัดฯ

2. ลงเรือที่ท่าน้ำปากเกร็ด หรือท่าน้ำกรมชมประทานปากเกร็ด หรือท่าเรือวัดตำหนักใต้ สนามบินน้ำ ใกล้กระทรวงพาณิชย์ ส่งที่วัดเชิงเลน

3. รถส่วนตัว สามารถนำมาจอดในวัดได้

 

 
 
 
เกาะ เกร็ด
วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร
วัดเล่งเน่ยยี่2 หรือ วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ หรือ วัดมังกร2
วัดเชิงเลน
วัดเสาธงหิน