WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

เมืองโบราณที่ตำบลโคราช

เมืองโบราณที่ตำบลโคราช หรือ เมืองโคราชเก่าถือเป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมขอมในอดีต
ที่พบในเขตนครราชสีมา มีร่องรอยโบราณสถานหลงเหลือ
ให้เห็น 3 แห่งด้วยกันคือ ปราสาทโนนกู่ ปราสาทเมืองแขก
ปราสาทเมืองเก่า การเดินทางจากตัวเมืองใช้ทางหลวง
หมายเลข 2 (นครราชสีมา-สระบุรี) ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 221-222 เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 2161 (เข้าสู่อำเภอสูงเนิน)
ไปประมาณ 3 กิโลเมตร ให้สังเกตทางแยกขวามือข้าง
วัดญาณโศภิตวนาราม (วัดป่าสูงเนิน) ซึ่งเป็นเส้นทางเข้าสู่โบราณ
สถานเหล่านี้ คือ

ปราสาทโนนกู่ ตั้งอยู่ที่บ้านกกกอก หมู่ที่ 7 ตำบลโคราช ห่างจากแยกวัดญาณโศภิตวนาราม 3 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานขนาดเล็กก่อด้วยอิฐและหินทราย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยปรางค์หลังเดี่ยวบนฐานสูง ด้านหน้ามีวิหารหันเข้าหาปรางค์ประธานอยู่ 2 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นทางเข้า-ออก และที่ลานระหว่างวิหารทั้งสองนั้นพบโคนนทิหมอบในอาการเคารพปราสาทประธานอัน เป็นที่สถิตของพระศิวะมหาเทพตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู จากการขุดแต่งปราสาทแห่งนี้ในปีพ.ศ.2534–2535 ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ที่สร้างขึ้นตามแบบ
ศิลปะเขมรโบราณ ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16
ปราสาทเมืองแขก อยู่ถัดจากปราสาทโนนกู่ไปประมาณ 600 เมตร เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ ก่อด้วยอิฐและหินทราย มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศเหนือ  ประกอบด้วยปราสาทประธาน บรรณาลัย (ห้องสมุด) 2 หลัง ระเบียงคด ซุ้มประตู สระน้ำ กำแพงแก้ว และปราสาทก่อด้วยอิฐขนาดเล็ก จากการขุดแต่งทางโบราณคดีในปี พ.ศ.2502 และการขุดแต่งบูรณะในปี พ.ศ.2533–2534 พบทับหลังที่แกะสลักลวดลายต่าง ๆ ประติมากรรมรูปเทพเจ้า รวมทั้งศิลาจารึกที่ถูกนำมาก่อเป็นฐานประตูซุ้มชั้นนอกสุด  สันนิษฐานว่าปราสาทแห่งนี้น่าจะเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์อายุราวพุทธ ศตวรรษที่15  ปราสาทเมืองเก่า  ตั้งอยู่ในวัดปรางค์เมืองเก่า ตำบลโคราช อยู่เลยปราสาทเมืองแขกไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร  สังเกตบริเวณทางเข้าด้านหน้าวัดสร้างเป็นรูปประตูเมืองเก่าโคราชและ อนุสาวรีย์ย่าโม ปราสาทเมืองเก่าเป็นโบราณสถานขนาดเล็กก่อด้วยศิลาแลง หินทราย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นโบราณสถานในศาสนาพุทธลัทธิมหายานประเภทอโรคยาศาล(โรงพยาบาล) ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรขอม ทรงสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1724-1763 แผนผังประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีบรรณาลัยอยู่ทางมุมขวาด้านหน้า ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วซึ่งมีซุ้มประตูทางเข้าอยู่ด้านหน้า นอกกำแพงมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมกรุด้วยศิลาแลง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงเนินดินเป็นแนวยาวคล้ายกำแพง 
ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับทับหลังและโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่ค้นพบที่ปราสาททั้งสามแห่ง สามารถไปชมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย