WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

วัดไชโยวรวิหาร หรือ วัดเกษไชโย
ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองประมาณ 18 กิโลเมตร อยู่บนเส้นทางสายอ่างทอง-สิงห์บุรี ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร เดิมเป็นวัดราษฏร์สร้างมาแต่ครั้งใดไม่ปรากฏ มีความสำคัญขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4  เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)  แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี   ได้ขึ้นมาสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่หรือหลวงพ่อโตไว้กลางแจ้ง   องค์เป็นปูนขาวไม่ปิดทอง   ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5    ได้เสด็จฯ มานมัสการและโปรดเกล้าฯ    ให้ปฏิสังขรณ์วัดไชโยขึ้นเมื่อ     พ.ศ.2430 แต่แรงสั่นสะเทือนระหว่างการลงรากพระวิหารทำให้องค์หลวงพ่อโตพังลงมาจึงโปรด เกล้าฯ ให้สร้างหลวงพ่อโตขึ้นใหม่ตามแบบหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร มีขนาดหน้าตักกว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูง (สุดยอดรัศมีพระ) 11 วา 1 ศอก 7 นิ้ว และพระราชทานนามว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” มีการจัดงานฉลองซึ่งนับเป็นงานใหญ่ที่สุดของจังหวัดอ่างทองในสมัยนั้นและใน วิหารที่หันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ขนาดหน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 7 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2437
องค์หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่ในพระวิหารที่มีความสูงใหญ่สง่างามแปลกตากว่า วิหารแห่งอื่นๆ พุทธศาสนิกชนจากที่ต่างๆ มานมัสการอย่างไม่ขาดสาย ติดกับด้านหน้าพระวิหาร มีพระอุโบสถก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยอันงดงามหันด้านหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้า พระยา ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี ปัจจุบันวัดไชโยวรวิหารได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่จนมีความงามสมบูรณ์ยิ่ง

วัดป่าโมกวรวิหาร
อยู่ในเขตเทศบาลตำบลป่าโมก  ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไป  18 กิโลเมตร   ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 (สายอ่างทอง-อยุธยา) กิโลเมตรที่ 40 แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 329 จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 3501 จะเห็นป้ายทางไปวัดป่าโมก ภายในวัดแห่งนี้มีพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามมากองค์หนึ่งของเมืองไทย องค์พระก่ออิฐถือปูนปิดทอง มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาเล่าขานกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด ราษฎรบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก่อนที่จะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราชได้เสด็จมาชุมนุมพล และถวายสักการะบูชาพระพุทธรูปองค์นี้ ต่อมากระแสน้ำเซาะเข้ามาใกล้พระวิหาร “ สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 3 โปรดเกล้าฯให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กองงานจัดการชะลอลากให้ห่างจากแม่น้ำ เดิม ” (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) ได้เสด็จมาควบคุมการชะลอองค์พระให้พ้นจากกระแสน้ำเซาะตลิ่งพังและนำไปไว้ยัง วิหารใหม่ที่วัดตลาดห่างจากฝั่งแม่น้ำ 168 เมตร แล้วโปรดให้รวมวัดตลาดกับวัดชีปะขาวเป็นวัดเดียวกัน พระราชทานนามว่าวัดป่าโมกเพราะบริเวณนั้นมีต้นโมกมากมาย สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้นอกจากพระพุทธไสยาสน์แล้วยังมี วิหารเขียนซึ่งเล่ากันว่า ผนังวิหารด้านที่หันออกสู่แม่น้ำมีแท่นสูงเข้าใจว่าเป็นแท่นที่เคยมี กษัตริย์เสด็จประทับยืนบริเวณนั้น มณฑปพระพุทธบาท 4 รอย หอไตร เป็นต้น

วัดต้นสน
อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับวิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง เป็นวัดเก่าแก่โบราณ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร พระนามว่า สมเด็จพระพุทธนวโลกุตตรธัมมบดีศรีเมืองทอง หรือเรียกชื่อย่อว่า “สมเด็จพระศรีเมืองทอง” ขนาดหน้าตักกว้าง 6 วา 3 ศอก 9 นิ้ว สูง 9 วา 1 ศอก 19 นิ้ว หล่อด้วยโลหะทั้งองค์ลงรักปิดทอง พระราชสุวรรณโมลี เจ้าอาวาสวัดต้นสนเดิมเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2516 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีสวมเกตุสมเด็จพระศรีเมืองทอง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2528 นับเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะขนาดใหญ่ที่สุดองค์แรกและมีพุทธลักษณะที่สวย งามมากอีกองค์หนึ่ง  นอกจากนี้ยังมีวังปลาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งอีกด้วย

วัดสี่ร้อย
อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย หมู่ที่ 4 ตำบลสี่ร้อย ไปตามทางหลวงหมายเลข 3454 กิโลเมตรที่ 31–32 ( บนเส้นทางสายโพธิ์พระยา-ท่าเรือ หรืออ่างทอง -วิเศษชัยชาญ ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12.5 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายมือไปตามถนนคันคลองชลประทานอีก 5 กิโลเมตร) ชื่อตำบลสี่ร้อยและชื่อวัดเป็นชื่อที่สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่ ขุนรองปลัดชู  และชาวบ้านวิเศษชัยชาญ 400 คน ที่เสียชีวิตในสงครามระหว่างไทยกับพม่าที่เมืองกุย  ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา  พ.ศ.2302  วัดแห่งนี้ มีพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ สูง 21 เมตร หน้าตักกว้าง 6 เมตรเศษ นามว่า  “หลวงพ่อโต”  หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “หลวงพ่อร้องไห้”   เมื่อปีพ.ศ 2530 มีข่าวใหญ่ว่าหลวงพ่อวัดสี่ร้อยมีโลหิตไหลออกมาจากพระนาสิก ข่าวนี้ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปทั้งชาวอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียงต่างหา โอกาสมานมัสการ “หลวงพ่อร้องไห้”  นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถวัดนี้เคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างอยุธยา ที่มีความงดงามมาก ปัจจุบันภาพลบเลือนไปหมดแล้ว

วัดม่วง
วัดม่วง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ ตำบลหัวตะพาน อยู่ห่างจากอำเภอเมือง ประมาณ ๘ กิโลเมตร ไปตามเส้นทางสายอ่างทอง-วิเศษชัยชาญ (ทางหลวงหมายเลข ๓๑๙๕) กิโลเมตรที่ ๒๙ เข้าไป ๑ กิโลเมตร วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ ภายในวัดมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น พระอุโบสถ ล้อมรอบด้วยกลีบบัวสีชมพู ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก วิหารแก้ว ชั้นล่าง เป็นพิพิธภัณฑ์วัตถุมงคลและวัตถุโบราณ เปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. ภายในมีรูปปั้นเกจิอาจารย์ชื่อดังทั่วประเทศ ชั้นบน ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เนื้อเงินแท้ องค์แรกองค์เดียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นเพื่อเป็นเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสที่ครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี บริเวณวัดมีรูปปั้นแสดง แดนนรก แดนสวรรค์ แดนเทพเจ้าไทย และแดนเทพเจ้าจีน ซึ่งมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมขนาดใหญ่ มีรูปปั้นแสดงเหตุการณ์ ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามไทย-พม่า ที่เมืองวิเศษชัยชาญ ด้านหลังมีวังมัจฉา และสามารถ หาซื้อผลิตภัณฑ์ของดีเมืองอ่างทองได้

วัดสระเกษ
วัดนี้เป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ที่ตำบลชัยภูมิ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันออก ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทอง ประมาณ 15 กิโลเมตร ตำบลชัยภูมินี้เดิมชื่อ บ้านสระเกษ ขึ้นอยู่กับแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ มีกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารว่าเมื่อ พ.ศ. 2128 พระเจ้าเชียงใหม่ยกทัพมาตั้งค่ายอยู่ที่บ้านสระเกษ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถได้รุกไล่ตีทัพของพระเจ้า เชียงใหม่จนแตกพ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันและสมเด็จพระ นางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  เคยเสด็จพระราชดำเนินมาวัดสระเกษ เมื่อปี พ.ศ. 2513 เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

วัดขุนอินทรประมูล

หลวงพ่อพระนอน มีความยาว 50 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าเลอไท แห่งกรุงสุโขทัย เดิมอยู่กลางแจ้ง ขุนอินทรประมูลซึ่งเป็นข้าราชการในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุง ศรีอยุธยา มีความเลื่อมใสและศรัทธาได้อธิษฐานขอสร้างวัดและวิหาร(ซึ่งต่อมาถูกไฟไหม้ เสียหาย) ท่านได้สร้างจนเงินส่วนตัวหมด จึงได้แอบเอาเงินหลวงมาก่อสร้างจนสำเร็จ ต่อมาทางกรุงศรีอยุธยาตรวจพบจึงได้นำท่านมาประหารและฝังร่างท่านไว้หลังองค์ พระนอน ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินทราบว่าท่านโกงเงินภาษีมาสร้างวัดจึงได้เห็นใจและเข้าใจ ในความศรัทธา พระมหากษัตริย์ที่เคยมาสักการบูชาองค์พระนอนคือ1.พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 2 .พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 3. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันได้เสด็จมา 2 ครั้งคือเมือ พศ.2516 และ พศ.2518

การเดินทาง  สามารถใช้เส้นทางได้ 3 สายคือ  สายอ่างทอง-อำเภอโพธิ์ทอง (เส้นทาง3064 ) แยกขวาที่กิโลเมตร 9 เข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร   หรือใช้เส้นทางจากจังหวัดสิงห์บุรีไปทางอำเภอไชโยประมาณกิโลเมตรที่ 64-65 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าถึงวัดเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางตัดใหม่สายอำเภอวิเศษชัยชาญ-โพธิ์ทอง (ถนนเลียบคลองชลประทาน)  เมื่อถึงอำเภอโพธิ์ทองมีทางแยกเข้าวัดอีก 2  กิโลเมตร  


วัดอ้อย
เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองวิเศษชัยชาญ ตั้งอยู่หมู่ 10 ตำบลศาลเจ้าโรงทอง ริมฝั่งแม่น้ำน้อย ไปตามทางหลวงหมายเลข 3454 ประมาณ 2 กิโลเมตร ห่างจากวัดเขียนไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาแต่จะสร้างในสมัยใดใครเป็นผู้สร้างไม่ ปรากฎหลักฐานแน่ชัด พระอุโบสถเป็นอาคารขนาดใหญ่หกห้อง ก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ หลังคาเป็นเครื่องไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีลักษณะสวยงามคล้ายกับพระอุโบสถวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระอุโบสถนี้ไม่มีหน้าต่าง ลักษณะแบบนี้เรียกว่ามหาอุด รอบโบสถ์มีเสมา 8 ทิศ พระประธานเป็นพระหล่อสัมฤทธิ์ ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อดำ วัดอ้อยเป็นวัดถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในสมัยอยุธยา นอกจากนี้ในบริเวณพื้นที่ของวัดอ้อย มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กได้เปิดบ้านสำหรับให้ที่พักพิงแก่เด็กมีปัญหา เด็กเร่ร่อนติดยา หรือเคยประพฤติผิดกฏหมายชื่อว่า “บ้านเด็กใกล้วัด” เพื่อช่วยให้เด็กเหล่านี้มีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นได้สัมผัสธรรมชาติและมีพระ สงฆ์คอยช่วยเหลือบำบัดทางด้านจิตใจ

หมู่บ้านทำกลอง
ตั้งอยู่ที่ ตำบลเอกราช หลังตลาดป่าโมก ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา การเดินทางใช้ถนนสายใน ผ่านหน้าที่ทำการเทศบาลอำเภอป่าโมกซึ่งขนานไปกับลำคลองชลประทาน ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ตลอดสองข้างทางจะเห็นร้านขายกลองเป็นระยะๆ ชาวบ้านแพเริ่มผลิตกลองมาตั้งแต่ พ.ศ.2470 โดยจะเริ่มหลังฤดูเก็บเกี่ยว วัตถุดิบที่ใช้ทำกลองได้แก่ ไม้ฉำฉาเพราะเป็นไม้เนื้ออ่อนที่สามารถขุดเนื้อไม้ได้ง่ายกับหนังวัว เราสามารถชมกรรมวิธีการทำกลองตั้งแต่เริ่มกลึงท่อนไม้เรื่อยๆไปจนถึงขั้นตอน การขึ้นกลอง การฝังหมุด กลองที่ทำมีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงกลองขนาดใหญ่เช่น กลองทัด ซึ่งเราจะได้เห็นถึงฝีมือการทำที่มีคุณภาพ ประณีต สวยงามและยังสามารถซื้อไปเป็นของที่ระลึกกลับบ้าน หากผ่านหน้าบ้านกำนันหงส์ฟ้า หยดย้อย จะเห็นกลองยาวที่สุดในโลกตั้งอยู่ หน้ากลองกว้าง 36 นิ้ว 92 เซนติเมตร ยาว 7.6 เมตร ทำจากไม้จามจุรีต่อกัน 6 ท่อน สร้างปี 2537 ใช้เวลาสร้างประมาณ 1 ปี

วัดมธุรสติยาราม
ตั้งอยู่ริมถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) เลยสี่แยกทางเข้าอ่างทอง สายเอเชียไปทางนครสวรรค์ประมาณ 500 เมตร เลี้ยวขวาเข้าปั๊มน้ำมันปตท.ไปประมาณ 30 เมตร เดิมชื่อวัดกุฏิ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำประคำทองซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาเก่ามาแต่โบราณ สันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีหลักฐานสำคัญเหลือให้เห็นคือ กำแพงแก้ว พระอุโบสถ เจดีย์และวิหาร ซึ่งวางจัดกลุ่มได้เหมาะสม มีรูปทรงที่งดงาม พระอุโบสถเจดีย์เป็นรูปโค้งสำเภาก่ออิฐถือปูนกว้าง 4 เมตร ยาว 8 เมตร หลังคาสูง 6 เมตรมุงด้วยกระเบื้องดินเผา สิ่งที่เป็นศิลปะชั้นเยี่ยมของพระอุโบสถได้แก่ หน้าบันไม้ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถแกะสลักลายอย่างวิจิตรพิศดาร เป็นลายดอกบัวอยู่กลาง ก้านขด ปลายลายเป็นช่องหางโต แปลกตรงที่ลายดอกบัวมีลักษณะคล้ายจะเป็นเทพนมอยู่ยอดดอกบัว

วัดสระแก้ว
ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเสด็จ อยู่ห่างจากวัดท่าสุทธาวาส ประมาณ 200 เมตร ตามถนนเลียบคลองชลประทาน หากเดินทางมาจากอยุธยาตามเส้นทาง อยุธยา-อ่างทอง (ทางหลวงหมายเลข 309) กิโลเมตรที่ 39–40 ทางเข้าวัดจะอยู่ซ้ายมือ วัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2242 เดิมชื่อวัดสระแก เป็นสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่มีเด็กอยู่ในความดูแลมากจึงได้จัดตั้งคณะลิเก เด็กกำพร้าวัดสระแก้วเพื่อหารายได้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก กำพร้า จนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับวัดแห่งนี้ ภายในวัดสระแก้วยังมีอาคาร “สามัคคีสมาคาร”   ซึ่งเป็นอาคารศูนย์โครงการทอผ้าตามพระราชประสงค์ก่อตั้งเมื่อ   พ.ศ.2524 อยู่ในความรับผิดชอบของ กองอุตสาหกรรมในครอบครัว กระทรวงอุตสาหกรรม ภายในอาคารมีสินค้าผ้าทอคุณภาพดีเช่น ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ฯลฯ นอกจากนี้ด้านหน้าวัดยังจัดตั้ง ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอป่าโมก ภายในมีสาธิตการทอผ้ากี่กระตุก การทำเครื่องประดับเงิน การปั้นตุ๊กตาชาววังและผลิตผลทางการเกษตรของกลุ่มแม่บ้าน เช่น กล้วยเบรคแตก เป็นการเผยแพร่งานฝีมือของชาวอำเภอป่าโมกซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายและมี จำหน่ายให้แก่ผู้สนใจ ทั้งสองแห่งเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่วัดสระแก้ว โทร. 0 3566 1169, 0 3566 1273 หรือที่โรงเรียนวัดสระแก้วโทร. 0 3566 1950-1

อิฐอ่างทอง
เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนคุณภาพสูงที่ผลิตขึ้นเพื่อจัดจำหน่ายไปทั่วประเทศ ไทย ส่วนมากจะใช้ในการทำอิฐโชว์แนวประดับอาคาร บ้านเรือน ผู้สนใจติดต่อซื้อได้จากโรงอิฐโดยตรง เฉพาะที่อำเภอป่าโมกจะมีโรงอิฐมากกว่า 42 แห่งตามเส้นทางหลวงหมายเลข 3501 กิโลเมตรที่ 1-9 และทางหลวงหมายเลข 309 กิโลเมตรที่ 43–47

วัดโพธิ์หอม (วัดป่าหัวพัน)  
ตั้งอยู่ที่ตำบลราชสถิตย์ (ตำบลโตนด) อยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทอง 12 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางอ่างทอง-สิงห์บุรี กิโลเมตรที่ 68–69 แล้วแยกเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร วัดนี้เดิมเป็นวัดร้างสร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพิ่งจะเริ่มสร้างเป็นวัดใหม่เมื่อประมาณ 10 ปี สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้คือ รูปพรหมสี่หน้าปูนปั้นขนาดใหญ่จำนวน 2 เศียรที่ขุดได้ภายในวัดประดิษฐานอยู่ในซุ้มข้างเจดีย์ ลักษณะศิลปะเป็นแบบขอมซึ่งเดิมอาจใช้เป็นส่วนยอดของประตูวัดหรือพระอุโบสถ เหมือนกับที่พบว่าใช้เป็นยอดของประตูพระราชวังสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้มีกุฏิเจ้าอาวาสหลังใหม่ ที่เป็นศิลปะผสมคล้ายเอเชียและยุโรป

วัดจันทราราม
เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่บ้านช้าง หมู่ที่ 5 ตำบลโคกพุทรา ห่างจากที่ว่าการอำเภอโพธิ์ทองไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 4 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางสายโพธิ์ทอง-แสวงหาประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายไปอีก 3 กิโลเมตร ในบริเวณวัดแห่งนี้มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นจึงเป็นที่อยู่อาศัยและแพร่พันธุ์ ค้างคาวแม่ไก่และนกนานาชนิดมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ค้างคาวแม่ไก่เหล่านี้จะออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันจะห้อยหัวอยู่ตามกิ่งไม้เป็นสีดำพรืดมองเห็นแต่ไกลซึ่งผู้ สนใจสามารถไปชมได้ในทุกฤดูกาล

วัดอ่างทองวรวิหาร
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันออก ข้างศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นวัดเล็กๆ 2 วัด  ชื่อ  วัดโพธิ์เงิน และวัดโพธิ์ทอง  สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4  ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 สมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จทางชลมารคผ่านวัดทั้งสองนี้จึงโปรดฯ ให้รวมวัดสองวัดเป็นวัดเดียวกัน และพระราชทานนามว่า  “วัดอ่างทอง”   วัดนี้มีพระอุโบสถที่งดงาม  มีพระเจดีย์ทรงระฆังประดับด้วยกระจกสีทองด้านและหมู่กุฏิทรงไทยสร้างด้วยไม้ สักงดงามเป็นระเบียบซึ่งล้วนเป็นสถาปัตยกรรมตามแบบศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอน ต้น

วัดชัยมงคล
        สร้างราวปี  พ.ศ. 2400   ปลายสมัยรัชกาลที่4  เหตุที่ชื่อว่า วัดชัยมงคล  เนื่องจากเป็นจุดแพ้ชนะในการแข่งขันเรือเหนือวัดขึ้นมาไปเป็นวัดสนามชัย  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการแข่งขันภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมเขียนขึ้นใหม่ใน ปัจจุบันโดยนำศิลปสมัยใหม่มาผสมผสาน  เช่น   การใช้สีสะท้อนเสียง   การเขียนแบบเหมือนจริง   การให้น้ำหนักสีอ่อนและเข้ม   นอกจากนั้นยังมีการเหมือนแปลงลักษณะการวางภาพ  เช่น บนผนังเหนือหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุมเพียงแถวเดียว   หรือ  ที่ผนังตรงข้ามองค์พระประธานเขียนภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนพุทธบัลลังก์ แทนภาพมารผจญ

ตลาดวิเศษชัยชาญ
ตลาดนี้เป็นตลาดเก่ามีอายุกว่า 100 ปี เป็นชุมชนของชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ ยังคงเห็นสภาพบ้านเรือน ตึกแถวไม้ โรงแรมเก่า โรงสีข้าว ร้านขายของชำ ร้านขายเครื่องยาจีนและไทย

 


 
 
 
 
แนะนำสถานทีท่องเที่ยว กราบไหว้พระเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต และครอบครัว หรือคนที่เรารัก และยังได้ท่องเที่ยวอีกต่างหาก ซึ่งใช้เวลาภายในวันเดียว ก็สามารถท่องเที่ยวได้ ....
1
วัดไชโยวรวิหาร หรือ วัดเกษไชโย
2
วัดป่าโมกวรวิหาร
3
วัดต้นสน
4
วัดสี่ร้อย
5
วัดขุนอินทรประมูล
6
วัดสระเกษ
7
วัดชัยมงคล
8
วัดจุฬามณี  
9
วัดวิเศษชัยชาญ