WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

 

สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา

เกาะตะรุเตา นับเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของอุทยาน มีพื้นที่ 152 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาที่มีสภาพเป็นป่าดิบชื้นซึ่งยังมีพรรณไม้และ สัตว์ป่าที่น่าสนใจจำนวน ไม่น้อย และมีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นป่าชายเลน นอกจากนี้ยังมีอ่าวน้อยใหญ่ที่มีชายหาดสวยงามอยู่หลายแห่ง และในท้องทะเลของเกาะตะรุเตายังมีพันธุ์ปลามากมายหลายชนิดรวมทั้งเต่าทะเล ที่ใกล้สูญพันธุ์ 4 ชนิด คำว่า “ตะรุเตา” นี้ เพี้ยนมาจาก คำว่า “ตะโละเตรา” ในภาษามลายูแปลว่า มีอ่าวมาก 

นอกจากสภาพธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์แล้ว เกาะตะรุเตายังมีประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ โดยในปี พ.ศ. 2479 รัฐบาลมีนโยบายให้กรมราชทัณฑ์จัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งนิคมฝึกอาชีพ และเป็นสถานที่กักกัน นักโทษ เกาะตะรุเตาซึ่งอยู่ห่างไกลจากฝั่ง เต็มไปด้วยปัจจัยทางธรรมชาติที่เป็นอุปสรรคต่อการหลบหนี ก็ได้ถูกกำหนดให้เป็นสถานที่จัดตั้งนิคมดังกล่าว มีการจัดสร้างอาคารที่ทำการ บ้านพักของผู้คุม เรือนนอนนักโทษ และโรงฝึกอาชีพขึ้นที่อ่าวตะโละวาว และอ่าวตะโละอุดัง ในปี พ.ศ.2481 นักโทษชุดแรกจำนวน 500 คนก็ได้เดินทางมายังตะรุเตา และทยอยเข้ามาอีกเรื่อยๆ จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ.2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมือง 70 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักโทษจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชและกบฏนายสิบ มากักบริเวณอยู่ที่อ่าวตะโละอุดัง

ในปี พ.ศ.2484 สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อุบัติขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา เนื่องจากเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร และยารักษาโรค นักโทษเจ็บป่วยล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ผู้คุมและนักโทษจำนวนหนึ่งจึงได้ออกปล้นสะดมเรือสินค้าที่ผ่านไปมาในน่านน้ำ บริเวณช่องแคบมะละกา จนทำให้เรือสินค้าไม่กล้าล่องเรือผ่านมาในบริเวณนั้น ในปี พ.ศ.2489 รัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองมลายูอยู่ในขณะนั้นได้ขออนุญาตจากรัฐบาลไทยในการส่ง กองกำลังเข้าปราบปรามโจรสลัดตะรุเตาจนสำเร็จ ต่อมากรมราชทัณฑ์ได้ประกาศยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา และหลังจากนั้นเกาะตะรุเตาก็ถูกทิ้งร้างเป็นเวลา 26 ปี จนกระทั่งวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2517 กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติตะรุเตาขึ้น โดยนับเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย 

สถานที่น่าสนใจบนเกาะตะรุเตา

อ่าวพันเตมะละกา มีชายหาดยาวขาวสะอาด เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และศูนย์บริการนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนหนึ่งจัดเป็นนิทรรศการแสดงเรื่องของ ธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของเกาะตะรุเตา อ่าวพันเตมะละกายังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม และจากอ่าวพันเตมะละกา ยังสามารถเดินขึ้นไปยังจุดชมวิวผาโต๊ะบู ได้อีกด้วย

อ่าวจาก เป็นอ่าวเล็กๆติดต่อกับอ่าวพันเตมะละกา

อ่าวเมาะและ มีหาดทรายขาวสะอาด และดงมะพร้าวสวยงาม

อ่าวสน ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 8 กิโลเมตร เป็นอ่าวรูปโค้งที่มีหาดทรายสลับกับหาดหิน และเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล

อ่าวตะโละวาว อยู่ทิศตะวันออกของเกาะ เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ ตต.1 (ตะโละวาว) พื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้เคยเป็นสถานที่ตั้งนิคมฝึกอาชีพสำหรับนักโทษ กักกันและนักโทษอุกฉกรรจ์ ปัจจุบัน ทางอุทยานฯได้จำลองอาคารสถานที่ที่เคยอยู่ในนิคมฝึกอาชีพ เช่น บ้านพักของผู้คุม เรือนนอนของนักโทษ โรงฝึกอาชีพ ไว้ในบริเวณดังกล่าว

อ่าวตะโละอุดัง อยู่ทางทิศใต้ของเกาะ ห่างจากเกาะลังกาวี 8 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่ ตต.2 (ตะโละอุดัง) อดีตเป็นที่กักกันนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มนักโทษจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช และกบฏนายสิบ

น้ำตกลูดู เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงาม อยู่ห่างจากอ่าวสนประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งจาก บริเวณอ่าวสนมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติไปยังน้ำตกลูดู

ถ้ำจระเข้ เป็นถ้ำที่มีความลึกประมาณ 300 เมตร ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงามและมีลักษณะแตกต่างกันไป การเดินทางไปถ้ำจระเข้ต้องนั่งเรือหางยาวไปตามคลองพันเตมะละกา ซึ่งอุดมไปด้วย ป่าชายเลนที่มีไม้โกงกางจำนวนมากตลอดสองฝั่งคลองโดยใช้เวลาล่องเรือประมาณ 15 นาทีและใช้เวลา ชมถ้ำประมาณหนึ่งชั่วโมง ติดต่อได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอุทยานฯ ผู้ที่จะเที่ยวชมภายในตัวถ้ำควรนำไฟฉายไปด้วย

จุดชมวิว “ผาโต๊ะบู” สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 60 เมตร อยู่ด้านหลังที่ทำการอุทยานฯ เป็น จุดชมทิวทัศน์ของเกาะบริเวณชายหาด อ่าวพันเตมะละกา จะเห็นเกาะบุโหลน เกาะกลาง เกาะไข่ เกาะอาดัง เกาะราวี หมู่เกาะเภตรา ใช้เวลาเดินขึ้นจุดชมวิวประมาณ 20 นาที

กิจกรรมบนเกาะตะรุเตา

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ จากที่ทำการอุทยานฯ บริเวณอ่าวพันมะละกามีเส้นทางเดินเท้าผ่าน ป่าดงดิบไปอ่าวตะโละวาว ระยะทาง 12 กิโลเมตร สองข้างทางสภาพเป็นป่าดงดิบหนาทึบ ร่มรื่นด้วยไม้ นานาพรรณ มีสัตว์ป่า เช่น หมูป่า กระจง และนกน่าสนใจหลายชนิด โดยเฉพาะนกเงือกที่พบได้บ่อย
อีกเส้นทางหนึ่งไปอ่าวจาก อ่าวเมาะและจนถึงอ่าวสน ระยะทาง 8 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จะผ่านป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ และยังเหมาะแก่การดูนกเช่นนกเงือก นกแซงแซว
เส้นทางล่องเรือรอบเกาะ เพื่อศึกษาธรรมชาติแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยอุทยานฯจะจัดเรือบริการพร้อมเจ้าหน้าที่นำทางชมหาดทรายต่าง ๆ เริ่มจากแวะดูนกที่อ่าวจาก ชมหาดทรายขาวและยาวที่สุดบนเกาะตะรุเตาที่อ่าวสน ศึกษาร่องรอยประวัติศาสตร์ที่อ่าวตะโละอุดัง ชมธรรมชาติที่อ่าวตะโละวาว แวะดำน้ำและเที่ยวป่าชายเลน ใช้เวลาในการล่องเรือ 1 วัน สนใจติดติดได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบนเกาะ
ที่พักอุทยานแห่งชาติตะรุเตา

ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา คนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท

ในเขตอุทยานฯ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยวบนเกาะตะรุเตาและเกาะอาดัง สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช โทร. 0 2562 0760 หรือ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตา บริเวณท่าเรือปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล 91110 โทร. 0 7478 3485 หรือ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติตะรุเตาที่ ต.ต.1 (อ่าวพันเตมะละกา) บนเกาะตะรุเตา โทร. 0 7472 9002-3, 0 7471 2425

การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา

ท่าเรือปากบารา อยู่ห่างจากอำเภอละงูประมาณ 8 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ปากคลองละงู ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู เป็นท่าเรือที่อยู่ใกล้เกาะตะรุเตามากที่สุด ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร และใกล้ท่าเรือเป็น ที่ตั้งของศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตา บริเวณท่าเรือปากบารา

สตูล-ท่าเรือปากบารา จากอำเภอเมือง จังหวัดสตูล สามารถเดินทางไปยังท่าเรือปากบาราได้ดังนี้
รถยนต์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 406 ถึงบ้านฉลุง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 416(สตูล-ละงู) ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 4052 ซึ่งแยกจาก อ.ละงู ตรงไปสู่ท่าเรือปากบารา 

รถโดยสาร มีรถแท็กซี่โดยสารสายสตูล-ปากบารา ออกจากตัวเมืองสตูล บริเวณข้างธนาคารกรุงเทพ สาขาสตูล วิ่งบริการวันละหลายเที่ยว นอกจากนี้ยังมีรถสองแถวและรถตู้ วิ่งบริการจากบริเวณ ตัวเมืองด้วย 

อำเภอหาดใหญ่-ท่าเรือปากบารา จากอำเภอหาดใหญ่ สามารถเดินทางไปยังท่าเรือปากบาราได้ ดังนี้
รถยนต์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 406 ถึงบ้านฉลุง จังหวัดสตูล แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 416 (สตูล-ละงู) ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 4052 ซึ่งแยกจาก อำเภอละงู ตรงไปสู่ท่าเรือปากบารา 

รถโดยสารประจำทาง รถออกจากสถานีขนส่งหาดใหญ่ตั้งแต่เวลา 06.20-16.20 น. รถจอดบริเวณตรงข้ามหอนาฬิกา ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมงครึ่ง สอบถามรายละเอียดที่ บริษัท สตูลขนส่ง จำกัด โทร. 0 7424 3797 

รถตู้โดยสาร จอดที่ข้างคลีนิคหมอสมโภชน์(ใกล้สถานีรถไฟ) รถจะออกทุกหนึ่งชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 07.00–18.00 น. สอบถามรายละเอียดที่ บริษัท สตูลขนส่ง จำกัด โทร. 0 7424 5655

การเดินทางโดยเรือโดยสารไปอุทยานแห่งชาติตะรุเตา มี 2 เส้นทาง คือ
1. เส้นทางท่าเรือปากบาราไปเกาะตะรุเตา (ขึ้นเกาะบริเวณท่าเรือพันเตมะละกา ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติ) หรือไปเกาะอาดัง-หลีเป๊ะ มีตารางการเดินเรือ ดังนี้

ท่าเรือปากบาราเดินทางไปเกาะตะรุเตา เรือออกจากท่าเรือปากบารา เวลา 10.30 น. และ 13.30 น. ค่าโดยสารไป-กลับ 400 บาท โดยเรือจะแวะที่เกาะตะรุเตาก่อน จากนั้นจะเดินทางต่อไปยังเกาะอาดัง-หลีเป๊ะ ค่าโดยสารเรือจากท่าเรือปากบารา เดินทางไปยังเกาะอาดัง-หลีเป๊ะ ไป-กลับ 800  บาท ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

เกาะตะรุเตาเดินทางไปเกาะอาดัง-หลีเป๊ะ เรือออกจากเกาะตะรุเตา เวลา 11.30 น. 

เกาะอาดัง-หลีเป๊ะเดินทางไปเกาะตะรุเตา เรือออกจากเกาะอาดัง-หลีเป๊ะ เวลา 10.00 น.

เกาะตะรุเตาเดินทางไปท่าเรือปากบารา เรือออกจากเกาะตะรุเตา เวลา 09.00 น. และ 11.00 น.

ท่าเรือปากบารา
- อ่าวพันเตมะละกา (เกาะตะรุเตา) 22 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
- เกาะอาดัง 80 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง
- เกาะหลีเป๊ะ 82 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 3.30 ชั่วโมง

เกาะตะรุเตา
- หมู่เกาะอาดัง-ราวี 40 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
- เกาะหลีเป๊ะ 40 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2.30 ชั่วโมง  
- เกาะไข่ 14.5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 40 นาที

เกาะอาดัง
- เกาะหลีเป๊ะ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที 
- เกาะหินงาม 2.5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 40 นาที 
- เกาะไข่ 17 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 45 นาที