WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

แหลมสมิหลา  

อยู่ในเขตเทศบาลเมือง ห่างจากตลาดทรัพย์สิน(ตลาดสดเทศบาล)ประมาณ 2.5 กิโลเมตร มีหาดทรายขาวสะอาด ทิวสนร่มรื่น รูปปั้นนางเงือกอันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสงขลา และรูปปั้นหนูแมว โดยรอบบริเวณได้จัดสวนหย่อมไว้ดูร่มรื่นเหมาะเป็นที่นั่งพักผ่อนยามเย็น เมี่อมองออกไปในทะเลจะเห็น เกาะหนูเกาะแมว อันเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของแหลมสมิหลา ที่มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า “มีพ่อค้าชาวจีนผู้หนึ่งคุมเรือสำเภาเดินทางมาค้าขายระหว่างจีนกับสงขลาเป็น ประจำ วันหนึ่งพ่อค้าผู้นี้ได้ซื้อหมากับแมวลงเรือไปเมืองจีนด้วย หมากับแมวอยู่บนเรือนานๆเกิดความเบื่อหน่ายจึงปรึกษาหาวิธีการที่จะกลับบ้าน หมากับแมวได้ทราบว่าพ่อค้ามีดวงแก้ววิเศษที่ทำให้ไม่จมน้ำ แมวจึงคิดอุบายโดยให้หนูไปขโมยแก้ววิเศษของพ่อค้ามา และหนูขอหนีขึ้นฝั่งไปด้วย ทั้งสามว่ายน้ำหนีลงจากเรือโดยที่หนูอมดวงแก้วเอาไว้ในปาก ขณะนั้นหนูนึกขึ้นได้ว่าถ้าถึงฝั่ง หมากับแมวคงจะแย่งเอาดวงแก้วไปจึงคิดที่จะหนี ฝ่ายแมวซึ่งว่ายตามหลังมาก็คิดเช่นกัน จึงว่ายน้ำรี่ไปหาหนู หนูตกใจว่ายน้ำหนีไม่ทันระวังตัว ดวงแก้ววิเศษที่อมไว้จึงตกลงจมหายไปในน้ำ หนูและแมวต่างก็หมดแรงจมน้ำตายกลายเป็นเกาะหนูเกาะแมวอยู่ที่อ่าวหน้าเมือง ส่วนหมาตะเกียกตะกายว่ายน้ำไปจนถึงฝั่งและสิ้นใจตายด้วยความเหน็ดเหนื่อย กลายเป็นหินบริเวณเขาตังกวนอยู่ริมอ่าวสงขลา ดวงแก้ววิเศษที่หล่นจากปากหนูแตกละเอียดกลายเป็นหาดทรายแก้วอยู่ทางด้าน เหนือของแหลมสน”

การเดินทาง จากอำเภอหาดใหญ่สามารถใช้บริการรถประจำทางสายหาดใหญ่-สงขลา แต่หากอยู่ในอำเภอเมืองก็มีรถสองแถวบริการไปชายหาด


สะพานติณสูลานนท์  
เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 4146 เชื่อมระหว่างทางหลวงหมายเลข 407 สายหาดใหญ่-สงขลา กับทางหลวงหมายเลข 4083 สายสงขลา-ระโนด โดยเป็นสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาจากฝั่งบ้านน้ำกระจายผ่านเกาะยอ ไปฝั่งเขาเขียว เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคมให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องรอ ข้ามแพขนานยนต์ บริเวณฝั่งหัวเขาแดง สะพานแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก เชื่อมระหว่างชายฝั่งอำเภอเมือง สงขลา บริเวณบ้านน้ำกระจาย กับชายฝั่งตอนใต้ของเกาะยอ ความยาวรวมเชิงสะพานทั้งสองด้าน ประมาณ 1,140 เมตร ช่วงที่ 2 เชื่อมระหว่างฝั่งด้านเหนือของเกาะยอกับฝั่งบ้านเขาเขียว ความยาวทั้งสิ้นประมาณ 1,800 เมตร สะพานนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อ 26 มีนาคม 2527 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2529

เขาตังกวน

เป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ตั้งอยู่บริเวณปลายแหลมในตัวเมืองสงขลา ทางไปแหลมสนอ่อน บนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่เมืองสงขลา ซึ่งสร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสมัยทวารวดี ในเดือนตุลาคมของทุกปีจะมีพิธีห่มผ้าองค์เจดีย์ ประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว และยังสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาและทิวทัศน์สองทะเล คือทะเลอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลา และก่อนถึงยอดเขาตังกวนจะมีศาลาวิหารแดง (พลับพลาที่ประทับ) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาในสมัยนั้น สร้างพลับพลานี้ถวายตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2431 บริเวณด้านล่างเขาตังกวนมีลิงอาศัยอยู่จำนวนมาก 

เทศบาลนครสงขลา สร้างลิฟท์ขึ้นเขาตังกวน และเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2546 ค่าบริการผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 20 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถานีลิฟท์เขาตังกวน เทศบาลนครสงขลา โทร. 0 7431 6330


ทะเลสาบสงขลา  
เป็นทะเลสาบธรรมชาติแห่งเดียวในประเทศไทย มีความยาวจากปากน้ำไปทางทิศเหนือประมาณ 80 กิโลเมตร ส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 20-25 กิโลเมตร ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบน้ำจืด แต่จะกร่อยในช่วงที่ติดกับทะเล ตรงปากอ่าวในทะเลสาบมีเกาะอยู่หลายเกาะ ที่สำคัญได้แก่ เกาะใหญ่ เกาะสี่ เกาะห้า เกาะแก้ว เกาะหมาก เกาะราย และเกาะยอ นักท่องเที่ยวที่อยากจะเช่าเรือเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ สามารถเช่าเรือได้บริเวณแหลมสนอ่อน

วัดมัชฌิมาวาส หรือวัดกลาง  
อยู่ที่ถนนไทรบุรี อำเภอเมืองสงขลา เป็นวัดใหญ่และสำคัญที่สุดในจังหวัดสงขลา อายุ 400 ปี สร้างตอนปลายอยุธยา เดิมเรียกว่าวัดยายศรีจันทร์ กล่าวกันว่ายายศรีจันทร์ คหบดีผู้มั่งคั่งในเมืองสงขลาได้อุทิศเงินสร้างขึ้น ต่อมามีผู้สร้างวัดเลียบ ทางทิศเหนือ และวัดโพธิ์ ทางทิศใต้ ชาวสงขลาจึงเรียกวัดยายศรีจันทร์ว่า “วัดกลาง” และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดมัชฌิมาวาส” โดยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสคราวเสด็จเมืองสงขลาเมื่อ พ.ศ. 2431 ในวัดมีโบราณสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ พระอุโบสถ สร้างสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นศิลปะประยุกต์ไทย-จีน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เช่น ภาพท่าเรือสงขลาที่หัวเขาแดงที่มีการค้าขายกันคึกคัก ซุ้มประตู เป็นศิลปะจีนกับยุโรป และมีพิพิธภัณฑ์ “ภัทรศิลป” เป็นที่เก็บพระพุทธรูป วัตถุโบราณ ซึ่งรวบรวมมาจากเมืองสงขลา สทิงพระ ระโนด ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การศึกษา เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์-อังคารและวันหยุดราชการ เวลา 13.00 - 16.00 น.

ิสวนสัตว์สงขลา   
เป็นสวนสัตว์เปิดริมถนนสงขลา-จะนะ ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง มีเนื้อที่ 911 ไร่ มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่าของไทยคืนสู่ธรรมชาติ พื้นที่เป็นภูเขาเล็กๆ หลายลูก มีถนนลาดยางโดยรอบและแยกชนิดสัตว์ไว้เป็นหมวดหมู่ มีสัตว์มากมายหลายชนิด ทั้งที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศและต่างประเทศ เช่น อูฐ นกชนิดต่างๆ วัวแดง เสือ จระเข้ ฯลฯ นอกเหนือจากสัตว์ป่าชนิดต่างๆอันควรค่าแก่การศึกษา สวนสัตว์สงขลายังมีจุดเด่นที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดคือ จุดชมวิวซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองสงขลา บริเวณนั้นมีร้านอาหารไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 08.30-17.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 7433 6038-40

พระมหาธาตุเจดีย์ไตรภพ ไตรมงคล  
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำด้วยวัสดุสแตนเลส ตั้งอยู่เด่นเป็นสง่าบนยอดเขาคอหงส์ หมู่ 8 บ้านในไร่ ถนนปุณณกัณฑ์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิ พลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติ 60 ปี และเพื่อเป็นศูนย์รวมใจสืบสารพระพุทธศาสนา วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียม ประเพณีไทย การเผยแพร่พุทธประวัติและพุทธจริยวัตร สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมาะสำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้องค์พระประธานประจำวันเกิด เดือนเกิด และปีนักษัตรเกิดของตนเอง เพื่อเป็นแนวทางในการปฎิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์ และร่วมสืบสานพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือสืบไป โดยจะจัดให้ประชาชนทั่วไปร่วมทำบุญถวายสังฆทานทุกวันที่ 7, 17 และ 27 ในเวลา 10.20 น. ของทุกเดือน

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา  

เมืองสงขลาเป็นเมืองที่เงียบสงบ ชาวเมืองมีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่าย ต่างจากหาดใหญ่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าของจังหวัด มีตึกเก่าโบราณที่ยังคงความสมบูรณ์สร้างแบบชิโน-โปรตุกีส ตามถนนนครใน นครนอก นางงาม และยะลา   มีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา เป็นอาคารแบบจีน ตั้งอยู่ที่ถนนนางงาม สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสร้างเมืองสงขลา  และที่ถนนนางงาม ยังเป็นแหล่งอาหารพื้นเมืองและขนมไทย ๆ ฝีมือชาวบ้านให้เลือกซื้อหาเป็นของฝาก เช่น ขนมสัมปะนี ทองม้วน ทองพลับ หรือเต้าฮวยที่ขายมากว่า 50 ปี ที่ตรงข้ามศาลหลักเมือง และยังมีข้าวตู ฝีมือดั้งเดิมให้ได้ลิ้มลองอีกด้วย


อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง

ครอบคลุมพื้นที่อำเภอนาทวี และ อำเภอสะเดา เขาน้ำค้างเป็นเขตหวง ห้ามกว่า 40 ปี ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอยู่ในความยึดครองของผู้ก่อการร้ายโจรจีนคอมมิวนิสต์ (จคม.) เป็นบริเวณที่มีพื้นที่ภูมิประเทศเป็นถิ่นทุรกันดาร เทือกเขาสลับซับซ้อน ทำให้เป็นฐานปฎิบัติการใหญ่ที่สุดของโจรจีนคอมมิวนิสต์ ต่อมากรมป่าไม้มีการสำรวจพื้นที่เขาน้ำค้างและได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เขาน้ำค้าง เมื่อปี พ.ศ.2504 อุทยานฯ มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์มาก พื้นที่ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบ มีไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้หลุมพอ ตะเคียน กฤษณา มังคะ สยาแดง เสือดำ เป็นต้น สัตว์ป่า เช่น สมเสร็จ กระจง อีเห็น นกเงือก นกหว้า เป็นต้น และมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติศึกษาระบบนิเวศน์ บ้านพักและสถานที่กางเต็นท์บริการนักท่องเที่ยว สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ ได้แก่


วัดหาดใหญ่ใน  
ตั้งอยู่ถนนเพชรเกษมใกล้สะพานคลองอู่ตะเภา เป็นที่ประดิษฐานพระนอนขนาดใหญ่ยาว 35 เมตร สูง 15 เมตร กว้าง 10 เมตร ชื่อ “พระพุทธหัตถมงคล” ที่ว่ากันว่าใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศนิยมไปนมัสการ

วนอุทยานน้ำตกบริพัตร  

ห่างจากอำเภอเมือง 52 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 406 ระหว่างกิโลเมตรที่ 35-36 แยกจากปากทาง 800 เมตร เป็นน้ำตกเล็ก ๆ มีน้ำตลอดปี อยู่ท่ามกลางแมกไม้เขียวขจี เหมาะกับการเล่นน้ำ สามารถเดินขึ้นไปตามบันไดหินเลียบเขา ชั้นบนมีแอ่งน้ำเล็ก ๆ อีก 1 แห่ง


พิพิธภัณฑ์พธำมรงค์ (พะธำมะรง)  

ตั้งอยู่ที่ถนนจะนะใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งบ้านพักเดิมของรองอำมาตย์โทขุนวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) บิดาของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พิพิธภัณฑ์ฯ เป็นสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยที่สร้างขึ้นเพื่อจำลองสถานที่เกิดของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษซึ่งเป็นชาวจังหวัดสงขลา จากคำบอกเล่าความทรงจำในอดีตสมัยที่บิดาของท่านดำรงตำแหน่งพัสดีเรือนจำ สงขลา “พะทำมะรง” เป็นตำแหน่งเก่าของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีควบคู่กับตำแหน่งพัสดีปรากฎหลัก ฐานอยู่ในกฎหมายตราสามดวง และอัยการลักษณะต่าง ๆ ตำแหน่งพะทำมะรงได้ใช้ติดต่อกันมาตลอดจนได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ตำแหน่งพะทำมะรงจึงได้ถูกยกเลิกไป พิพิธภัณฑ์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันเว้นวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-16.00 น.


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา  
ตั้งอยู่ที่ถนนวิเชียรชม เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน อายุกว่า 100 ปี เดิมเป็นบ้านพักส่วนตัวของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2421 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2437 จึงใช้เป็นที่พำนักและว่าราชการของพระวิจิตรวรศาสตร์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา ซึ่งต่อมาก็คือเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หลังจากนั้นใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราชและเป็นศาลากลางจังหวัดจนถึง ปี พ.ศ. 2496
ในปี พ.ศ. 2516 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารนี้เป็นโบราณสถานและปรับปรุงเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2525 ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงศิลปวัตถุภาคใต้ตอนล่าง และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาติพันธุ์วิทยา ศิลปะจีน ศิลปะพื้นบ้านพื้นเมือง อาทิ บานประตูไม้เดิมของจวน เป็นศิลปะพุทธศตวรรษที่ 24 ทำด้วยไม้จำหลักเขียนสีและประดับมุกฝีมือช่างชาวจีนชั้นครู แสดงออกถึงคตินิยมในธรรมเนียมประเพณี วรรณคดี ศาสนาตามแบบจีนที่วิจิตร
งดงามยังความสมบูรณ์อยู่มาก โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์แหล่งโบราณคดีจากบ้านเชียง และกาญจนบุรี 

เวลาเปิด-ปิด : เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น. 

อัตราค่าเข้าชม :  ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 7431 1728

เกาะยอ  
เป็นเกาะเล็ก ๆ ในทะเลสาบสงขลา เดินทางโดยข้ามสะพานติณสูลานนท์ ไปตามเส้นทาง จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 407 และเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวง 4083 ทางไปอำเภอสิงหนคร เกาะยอมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 9,275 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไหล่เขาและที่ราบตามเชิงเขา เหมาะแก่การเกษตรกรรม บนเกาะยอมีการทำสวนผลไม้แบบสุมรุม หมายถึงผลไม้จะผลัดกันให้ผลผลิตตลอดปี เช่น ส้มโอ มะพร้าว ขนุน ผลไม้ที่มีชื่อของเกาะยอคือ จำปาดะ ลักษณะคล้ายขนุนแต่ลูกเล็กกว่า สามารถนำไปทอดเหมือนกล้วยแขก หรือจะกินสดก็ได้ และผ้าทอเกาะยอ เป็นผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้นิยมสวมใส่ผ้าไทย มีลายที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ลายราชวัตถ์ ดอกพิกุล ดอกพะยอม เนื้อผ้าดูแลรักษาง่าย นอกจากนั้นเกาะยอยังเป็นแหล่งเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังในทะเลสาบสงขลาอีก ด้วย สิ่งที่เชิดหน้าชูตาเกาะยอมากอีกอย่างก็คือ สถาบันทักษิณคดีศึกษา ซึ่งได้รวบรวมและจัดแสดงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวใต้ไว้เป็นหมวดหมู่ ทั้งหมดอยู่ภายใน พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณฯ ยังมีหอชมวิวไว้ให้ชมทิวทัศน์สวยๆ ของเกาะยอและทะเลสาบสงขลา แล้วยังมีที่พักไว้บริการอีกด้วย

สวนสาธารณะเทศบาลเมืองหาดใหญ่  

ริมถนนกาญจนวนิช ไปตามเส้นทางหาดใหญ่-สงขลา ห่างจากตัวเมืองหาดใหญ่ 6 กิโลเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวหาดใหญ่และอำเภอใกล้เคียง บริเวณสวนตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับอย่างงดงาม มีศาลากลางน้ำ สวนนก มีร้านอาหารไว้บริการ เชิงเขาใกล้กับสวนนกเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนเชิงเขาด้านทิศใต้ใกล้กับค่ายลูกเสือเป็นที่ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมหยก และบริเวณยอดเขาเป็นที่ประดิษฐานพระพรหม


บ้านศรัทธา  
เป็นบ้านที่ชาวสงขลาพร้อมใจกันสร้างเพื่อมอบให้กับ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ ในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2534 ต่อมาท่านได้มอบบ้านศรัทธานี้คืนให้กับชาวสงขลาเมื่อปี 2539 พร้อมกันนี้ทางจังหวัดสงขลาได้จัดสร้างอาคารหอสมุดกาญจนาภิเษกขึ้น ตรงเชิงเขาใกล้กับบ้านศรัทธาและเปิดเป็นที่ศึกษาค้นคว้า บ้านศรัทธาตั้งอยู่บนเนินเขา รายรอบด้วยสวนมะพร้าว สามารถมองเห็นทัศนียภาพถึงสะพานติณสูลานนท์ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร

วัดถ้ำเขารูปช้าง  
ตั้งอยู่ตำบลปาดังเบซาร์ ห่างจากตลาดปาดังเบซาร์ประมาณ 13 กิโลเมตร เป็นวัดที่ใช้ถ้ำเป็นศาสนสถาน ภายในถ้ำแบ่งเป็นห้อง ๆ ประดิษฐานพระพุทธรูป พระนอน เจ้าแม่กวนอิม พระ บางห้องมีหินงอกหินย้อย บริเวณวัดมีบรรยากาศสงบร่มรื่น

หาดสะกอม  
อำเภอเทพา ห่างจากตัวเมืองสงขลา ประมาณ 53 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางสงขลา-จะนะ-เทพา หาดทรายขาวสะอาดสวยงามมาก นับเป็นสถานที่เหมาะสำหรับการพักผ่อน ตั้งแค้มป์ สามารถเช่าเรือประมงไปเที่ยวเกาะขาม ที่มีปลาชุกชุมเหมาะแก่ผู้ชื่นชอบกีฬาตกปลา อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 2 กิโลเมตร บริเวณหาดแห่งนี้มีร้านอาหารและที่พักบริการ

วัดขวด  

วัดขวดหรือสถานปฎิบัติธรรมโคกสัก ตั้งอยู่หมู่ 5 บ้านคลองหาน ตำบลบ้านแค ห่างจากอำเภอหาดใหญ่ 50 กิโลเมตร วัดนี้สร้างเมื่อปี 2536 โดยการนำขวดเก่าหลากสีหลายรูปแบบที่ชาวบ้านบริจาค นำมาสร้างอุโบสถ โรงธรรม กุฏิ เจดีย์ ฝาผนัง กลายเป็นสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นสวยงาม ทำให้มีผู้มาชมเป็นจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

     การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 408 (จะนะ-นาทวี) บริเวณกิโลเมตรที่ 43 หน้าโรงเรียนบ้านแค จะมีถนนเข้าไปถึงวัดขวด ประมาณ 6 กิโลเมตร


อุทยานนกน้ำคูขุด(เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา)  
ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 4 ตำบลคูขุด ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองสงขลา 55 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 4083 มีถนนแยกจากทางหลวงเข้าไปอีก 3 กิโลเมตร ได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2519 มีพื้นที่ 227,916 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลา และพัทลุง อุทยานนกน้ำเป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบสงขลา จากการสำรวจของกรมป่าไม้พบว่ามีนก 44 วงศ์ 137 สกุล 219 ชนิด บริเวณที่จะชมนก คือเกาะโคบ และท่าหิน ซึ่งนั่งเรือไปประมาณ 1 ชั่วโมง ช่วงเวลาที่เหมาะดูนก คือเดือนธันวาคม-มีนาคม ของทุกปี บริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีเรือบริการนำชมนก ค่าบริการชั่วโมงละ 200 บาท เรือนั่งได้ 6 คน อุทยานฯ มีบ้านพักบริการ จำนวน 4 ห้องๆ ละ 200 บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ สำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา โทร. 0 7439 7042
การเดินทาง สามารถนั่งรถโดยสารสายนครศรีธรรมราช-หาดใหญ่ หรือ อำเภอระโนด-หาดใหญ่ แล้วลงรถที่หน้าอำเภอสทิงพระ และต่อรถมอเตอร์ไซค์เข้าไปยังอุทยานฯ

 


วัดจะทิ้งพระ  

ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลจะทิ้งพระ ห่างจากที่ว่าการอำเภอสทิงพระประมาณ 200 เมตร เดิมเรียกว่า “วัดสทิงพระ” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1542 ภายในวัดมีโบราณสถานซึ่งเป็นศิลปะสมัยศรีวิชัยที่น่าสนใจ เช่น เจดีย์พระมหาธาตุ วิหารพระพุทธไสยาสน์ ที่ภายในวิหารมีภาพวาดฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่ มาก หอระฆังโบราณ วัดจะทิ้งพระ จะมีงานสมโภชน์พระพุทธไสยาสน์และพระเจดีย์ เป็นประจำปีทุกปี ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6


ัเขาเก้าเส้ง  
ห่างจากหาดสมิหลาประมาณ 3 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางไปสถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งแห่งชาติ มีตำนานเล่าถึงเขาเก้าเส้ง หรือที่เรียกกันในภาษาพื้นเมืองว่า “หัวนายแรง” ว่า “ครั้งนั้นทางเมืองนครศรีธรรมราชกำหนดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ และจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่โต บรรดา 12 หัวเมืองปักษ์ใต้ต่างก็นำเงินทองไปบรรจุในพระบรมธาตุ เมืองที่นายแรงเป็นเจ้าเมืองก็เป็นเมืองขึ้นนครศรีธรรมราชด้วย ประกอบกับนายแรงมีความศรัทธาในพุทธศาสนา จึงขนเงินทองเป็นจำนวนมากถึงเก้าแสนบรรทุกเรือสำเภา พร้อมด้วยไพร่พลออกเดินทางไปเมืองนครศรีธรรมราช ขณะกำลังเดินทางเรือสำเภาถูกคลื่นลมชำรุด จึงเข้าจอดเรือที่ชายฝั่งหาดทรายแห่งหนึ่ง เพื่อซ่อมแซมเรือ พอได้ทราบข่าวว่าทางเมืองนครศรีธรรมราชได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว นายแรงเสียใจมาก จึงให้ไพร่พลขนเงินทองบรรจุไว้บนยอดเขาลูกหนึ่ง สั่งให้ลูกเรือตัดหัวของตนไปวางไว้ที่ยอดเขา นายแรงกลั้นใจตาย ลูกเรือต้องจำใจตัดหัวเจ้านายไปวางไว้บนยอดเขาตามคำสั่ง เขาลูกนี้ภายหลังเรียกว่า “เขาเก้าแสน” เรียกเพี้ยนไปเป็น “เก้าเส้ง”ก้อนหินที่ปิดทับบนยอดเขาเรียกว่า“หัวนายแรง” ชาวบ้านเชื่อว่าดวงวิญญานของนายแรงยังเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์มาจนทุกวันนี้”

น้ำตกโตนงาช้าง

ที่ตั้ง เขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง บ้านหูแร่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

การเดินทาง
อยู่ห่างจากตัวเมืองหาดใหญ่ไปประมาณ 26 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางหาดใหญ่-รัตภูมิ หรือจะ เดินทางโดยรถโดยสารสองแถว หาดใหญ่-น้ำตกโตนงานช้าง ซึ่งจะมีรถจอดรออยู่ตรงบริเวณตลาด พลาซ่า ออกทุก 1 ชั่วโมง

ิเจดีย์พี่น้องยอดเขาแดง  

อำเภอสิงหนคร เจดีย์พี่น้องยอดเขาแดง ประกอบด้วย 
เจดีย์องค์ดำ ตั้งอยู่บนยอดเขาแดง ตำบลเขาแดง เจ้าเมืองพระคลัง (ดิศ บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ หรือ สมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สร้างไว้เป็นที่ระลึกเมื่อครั้งปราบกบฏเมืองไทรบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2373 
เจดีย์องค์ขาว พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย หรือสมเด็จพระยามหาพิชัยญาติ สร้างไว้เป็นที่ระลึก เมื่อครั้งปราบกบฎเมืองไทรบุรี ปัตตานี ปีนัง และมลายู เมื่อปราบกบฏได้แล้ว พระยาศรีพิพัฒน์รับราชการเมืองสงขลาอยู่ 2 ปี จึงได้สร้างเจดีย์ไว้บนยอดเขากลางเมืองสงขลาอีกองค์หนึ่งคู่กัน แล้วจึงยกทัพกลับกรุงเทพฯ


พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี  
       ตั้งอยู่ที่ตึกไดโนเสาร์  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางชีวภาพแห่งเดียวในภาคใต้ อาคารสูง 3 ชั้น มีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ตารางเมตร รวบรวมเรื่องราวทางด้านธรรมชาติวิทยา ประกอบด้วยส่วนนิทรรศการและส่วนตัวอย่างอ้างอิง โดยส่วนนิทรรศการเปิดให้บริการสำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เน้นเรื่องราวเกี่ยวกับการกำเนิดโลก ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศธรรมชาติ มีการจัดแสดงตัวอย่างหิน แร่ และซากฟอสซิลที่ค้นพบในประเทศไทย  มีแบบจำลองมหายุคต่าง ๆ ของโลก และป่าโบราณยุคคาร์บอนิเฟอรัสที่ไม่สามารถหาชมได้จากที่อื่น  นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการชั่วคราวปรับเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่ เสมอ         
         นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงตัวอย่างสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด ได้แก่ แมลง ปะการัง สัตว์เลื้อยคลาน ตลอดจนการจำลองระบบนิเวศธรรมชาติ ทั้งบนบกและในน้ำ เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในการอนุรักษ์ทั้งสิ่งมีชีวิตและแหล่งที่อยู่ควบคู่ กัน สำหรับส่วนตัวอย่างอ้างอิงจะรวบรวมตัวอย่างสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ โดยจำแนกไว้เป็นหมวดหมู่ตามลำดับอนุกรมวิธาน เพื่อให้นักศึกษา นักวิจัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ใช้เป็นแหล่งศึกษาเทียบเคียงตัวอย่าง นำไปสู่การผลิตงานวิจัย และสร้างองค์ความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาต่อไป

          พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ - วันอาทิตย์  ตั้งแต่เวลา 09:30 - 16:30 น.  ท่านที่มีจิตศรัทธา ต้องการบริจาคซากพืช สัตว์ที่น่าสนใจ หินและแร่ให้เก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา เพื่อประโยชน์ในการศึกษาทางด้านธรรมชาติวิทยาแก่ลูกหลานต่อไป ทางพิพิธภัณฑ์จะจารึกชื่อผู้ที่มอบไว้ให้ด้วย  สามารถติดต่อขอบริจาคได้ที่   ตึกไดโนเสาร์  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 7444 6682, 0 7428 8067-8 ดูได้ที่เว็บไซด์  http://www.sc.psu.ac.th/


วัดพะโคะ หรือวัดพระราชประดิษฐาน  
ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลชุมพร อำเภอสทิงพระ บริเวณเขาพัทธสิงค์ อยู่ห่างจากสงขลา 48 กิโลเมตร เป็นวัดจำพรรษาของ สมเด็จพะโคะหรือหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ซึ่งประชาชนให้ความนับถือเป็นอันมาก สร้างประมาณ พ.ศ.500 เล่ากันว่า วันหนึ่งมีโจรสลัดแล่นเรือเลียบมาตามฝั่ง เห็นสมเด็จพะโคะเดินอยู่มีลักษณะแปลกกว่าคนทั้งหลายจึงใคร่จะลองดี โจรสลัดจอดเรือและจับสมเด็จพะโคะไป เมื่อเรือแล่นมาได้สักครู่เกิดเหตุเรือแล่นต่อไปไม่ได้ ต้องจอดอยู่หลายวัน จนในที่สุดน้ำจืดหมดลงโจรสลัดเดือดร้อน สมเด็จพะโคะสงสาร จึงเอาเท้าซ้ายแช่ลงไปในน้ำทะเลเกิดเป็นประกายโชติช่วง น้ำทะเลกลายเป็นน้ำจืด โจรสลัดเกิดความเลื่อมใสศรัทธากราบไหว้ขอขมา และนำสมเด็จพะโคะขึ้นฝั่ง ตั้งแต่นั้นมาประชาชนจึงพากันไปกราบไหว้บูชากันเป็นจำนวนมาก การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 407 ทางสะพานติณสูลานนท์ผ่านเกาะยอ แล้วเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 4083 (สงขลา-ระโนด) หลักกิโลเมตรที่ 110 ทางซ้ายมือ จะมีป้ายบอกทางเข้าวัดพะโคะ

วัดเอกเชิงแส  

อยู่ที่ตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 408 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวง 4196 เข้าอำเภอกระแสสินธุ์ เดิมชื่อวัดเอก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทำด้วยหินปะการัง แต่ได้หล่อปูนครอบพระพุทธรูปองค์เดิมไว้ นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปองค์นี้มีขนาดหน้าตักกว้าง 70 เซนติเมตร สูง 120 เซนติเมตร รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่โทร. 0 7439 9075


เจดีย์พระบรมธาตุวัดชัยมงคล  
เจดีย์พระบรมธาตุอยู่ภายในบริเวณวัดชัยมงคล ถนนเพชรมงคล-ชัยมงคล อำเภอเมืองสงขลา เมื่อ พ.ศ. 2435 พระอาจารย์สอนบาลีในวัดชัยมงคลนามว่า “นะ อิศโร” เดินทางไปลังกาและมีโอกาสรู้จักกับคหบดีผู้หนึ่งซึ่งยินดีถวายพระธาตุให้แก่ ท่านนะ อิศโรอธิษฐาน เมื่อกลับมาสงขลาท่านได้สร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมธาตุให้พุทธศาสนิกชนได้ สักการะจนถึงทุกวันนี้ บริเวณพระบรมธาตุ จะเปิดให้เข้าชมเวลา 9.00–17.00 น

แหลมสนอ่อน  
อยู่บริเวณแหลมสมิหลา ร่มรื่นไปด้วยทิวสนทะเล บริเวณปลายแหลมเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล จังหวัดสงขลา ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพอันเกี่ยวเนื่องกับการปกครอง ร่วมกับกองทัพเรือ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2530 เพื่อให้ชาวเรือได้สักการะบูชาก่อนออกไปประกอบอาชีพในทะเล บริเวณแหลมสนอ่อนมีประติมากรรมพญานาคพ่นน้ำ ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ประติมากรรมพญานาคนี้แบ่งออกเป็นสามส่วนตั้งอยู่สถานที่ต่างกัน ส่วนหัวอยู่ที่แหลมสนอ่อน ส่วนลำตัวหรือสะดือพญานาคอยู่ที่แหลมสมิหลา ส่วนหางอยู่ที่ถนนชลาทัศน์-หาดสมิหลา  จากแหลมสนอ่อนสามารถชมทัศนียภาพอันสวยงามของทะเลสาบสงขลา และมองเห็นเกาะหนูได้ใกล้และชัดที่สุด รอบ ๆ บริเวณมีที่นั่งพักผ่อนยามเย็นสำหรับประชาชน

ตำหนักเขาน้อย  

ตั้งอยู่เชิงเขาน้อยทางทิศใต้ ถนนสะเดา อำเภอเมือง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2454 เพื่อเป็นที่ประทับของเจ้าฟ้ายุคลฆัมพร (กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์) เมื่อครั้งมาดำรงตำแหน่งสมเด็จอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ เคยใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าบรม ราชินีนาถฯ ในคราวเสด็จเยี่ยมราษฎรในจังหวัดภาคใต้ เมื่อเดือนมีนาคม 2502 ปัจจุบันใช้เป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัด


ย่านเมืองเก่าสงขลา  

ย่านเมืองเก่าสงขลาตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง มีถนนสายสำคัญน่าเดินเที่ยว 3 สาย คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม เมื่ออดีตราว 200 ปีก่อน ตัวเมืองสงขลาตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ เรียกว่า "เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน" จนกระทั่งพ.ศ. 2385 จึงขยายมาทางฝั่งทิศตะวันออกบริเวณตำบลบ่อยาง เรียกกันว่า "เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง" โดยเริ่มแรกมีถนนสองสายคือ ถนนนครนอก เป็นถนนเส้นนอกติดกับทะเลสาบ และถนนนครใน เป็นถนนเส้นในเมือง ต่อมามีการตัดถนนสายที่สามเรียกว่าถนนเก้าห้องหรือย่านเก้าห้อง เพื่องานสมโภชเสาหลักเมือง ต่อมาเรียกกันว่า ถนนนางงาม

ปัจจุบันถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงามยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมเอาไว้ มีห้องแถวไม้แบบจีน ตึกคลาสสิคสไตล์ชิโนโปรตุกีส ศาลเจ้าพ่อกวนอู โรงแรมนางงาม โรงแรมไม้เก่าแก่ประดับลายฉลุไม้วิจิตรบรรจง และขนมอร่อย ทั้งไทย จีน ฝรั่ง ให้เลือกชมและชิมอย่างเอร็ดอร่อย