WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

 
ตั้งอยู่ที่ตำบลไร่ขิง บนฝั่งแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำนครชัยศรี ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 32 กิโลเมตร วัดไร่ขิงนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ทรงพระราชทานนามว่า  "วัดมงคลจินดาราม (ไร่ขิง)" แต่ชาวบ้านเรียกกันเต็ม ๆ ว่า "วัดมงคลจินดารามไร่ขิง" จนกระทั่งเหลือแต่ชื่อ วัดไร่ขิง อาณาเขตวัดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เขตศาสนสถานและเขตสาธารณสถานซึ่งเป็นพื้นที่ของโรงเรียนและโรงพยาบาลมีถนน ตัดผ่านกลาง วัดนี้เป็นวัดราษฎร์ ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างเมื่อใด อาศัยจากคำบอกเล่าว่า สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2394 สมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์(พุก) รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เมื่อสร้างวัดเสร็จได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาจากวัดศาลาปูน (ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยไทยล้านนาและล้านช้าง ตามตำนานเล่าว่าลอยน้ำมาและอัญเชิญขึ้นไว้ที่วัดศาลาปูน)  ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยามาประดิษฐานไว้เป็นพระประธานวัด ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัยแบบประยุกต์ หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้ว สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ  ลักษณะผึ่งผายคล้ายสมัยเชียงแสน พระหัตถ์เรียวงามตามแบบสุโขทัย  พระพักตร์ดูคล้ายรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานเหนือฐานชุกชี พระอุโบสถ เป็นทรงโรง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ฝาผนังก่ออิฐถือปูนหน้าบันเป็นลายพุดตาล

ติดช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสลับสี ซุ้มประตูเป็นลายปูนปั้นเครือเถา บานประตูด้านนอกเป็นลายรดน้ำรูปท้าวจัตุโลกบาล ด้านในเป็นภาพสีรูปอสูรยักษ์ เซี้ยวกาง บานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำรูปต้นไม้พร้อมด้วยสิงสาราสัตว์ ด้านในเป็นภาพเขียนสีรูปดอกไม้ ส่วนซุ้มหน้าต่างเป็นรูปปูนปั้นลายเครือเถา รอบพระอุโบสถมีวิหารประจำทิศต่างๆทั้งสี่ทิศ  หน้าบันใช้ปูนปั้นเป็นลายเทพพนม ไม่มีซุ้มประตูหน้าต่าง ศาลาจตุรมุข ตั้งอยู่ด้านหน้าและด้านหลังของอุโบสถเป็นศาลาทรงไทย 4 มุข หน้าบันทั้งสี่ด้านมีภาพปูนปั้นเป็นเรื่องราวพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติจน ถึงปรินิพพานและการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ขอบล่างเป็นรูปปั้นราหูอมจันทร์  ปลายเสาทุกต้นมีบัวหงาย มณฑปกลางสระน้ำ เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง  ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของอุโบสถ วัดไร่ขิงเป็นวัดที่พุทธศาสนิกชนรู้จักกันดี นิยมเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิงกันอยู่เสมอ ทุกวันศุกร์และเช้าอาทิตย์จะมีตลาดนัดอาหารและผลไม้จำหน่าย ที่บริเวณริมแม่น้ำหน้าวัดเป็นเขตอภัยทาน ร่มรื่น มีปลาสวายตัวโตนับพันอาศัยอยู่ นักท่องเที่ยวสามารถซื้อขนมปังเลี้ยงอาหารปลาได้อีกด้วย สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 3431 1384, 0 3432 3056

การเดินทาง  สามารถใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทาง ได้แก่  รถยนต์  ใช้เส้นทางสายถนนเพชรเกษม ผ่านสวนสามพราน ก็จะพบป้ายของวัดไร่ขิงอยู่ทางขวามือ   
รถโดยสารประจำทาง นั่งรถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น 2 จากสถานีขนส่งสายใต้ สายเก่า (กรุงเทพฯ-อ้อมใหญ่-สามพราน-นครปฐม) กรุงเทพฯ-ราชบุรี กรุงเทพฯ-บางลี่ กรุงเทพฯ-สุพรรณบุรี    ลงปากทางเข้าวัดไร่ขิงแล้วต่อรถโดยสารประจำทางเข้าไปยังวัดไร่ขิง