WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

 

วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร

ชาวบ้านส่วนใหญ่มักเรียกขานกันว่า วัดใหญ่ หรือวัดพระศรี กันจนติดปาก แม้นพระประธานองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานในวิหารคือ พระพุทธชินราช ชาวเมืองพิษณุโลกก็นิยมเรียกกันว่า หลวงพ่อใหญ่ ตามไปด้วย วัดใหญ่นับเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญของจังหวัด เพราะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวเมืองและชาวไทยทั้งประเทศ ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองเมื่อปี พ.ศ. 1900 ภายในวัดสิ่งโบราณสถานโบราณวัตถุล้ำค่ามากมาย อาทิ

 


อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง

แหล่งผืนป่าซาวันนาแห่งเดียวของภาคเหนือที่แอบแฝงเสน่ห์แห่งป่า ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ความแตกต่างแห่งพืชพรรณที่ไม่พบเห็นบ่อยนักในป่าเมืองเหนือ นอกจากนี้ยังเป็ฯถิ่นอาศัยของสัตว์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และความหลากหลายทางชีวภาพมีพื้นที่ 789,000 ไร่

 


อุทยานแห่งชาติแก่งเจ็ดแคว

ครอบคลุมพื้นที่ป่าเขาในเขต 4 อำเภอของพิษณุโลก คือ วังทอง วัดโบสถ์ นครไทย และชาติตระการ เป็นแหล่งต้นน้ำหลายสายที่ไหลลงสู่ลำน้ำแควน้อย แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ คือ น้ำตกแก่งเจ็ดแคว อันเป็นที่รวมของธารน้ำสายย่อยๆ จำนวน 7 สาย การเดินทางจากพิษณุโลก ใช้เส้นทางพิษณุโลก - หล่มสัก 6 กิโลเมตร แยกซ้ายไปอำเภอวัดโบสถ์ (ทางหลวงหมายเลข 11) ประมาณ 25 กิโลเมตร ก่อนขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำแควน้อย มีทางแยกขวาไปบ้านนาขามอีก 15 กิโลเมตร เดินทางต่อไปอีก 9 กิโลเมตรถึงอุทยานฯ (เส้นทางบางช่วงเป็นทางลูกรัง)


อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
แหล่งที่ในอดีตเคยเป็นสมรภูมิแห่งการต่อสู้ แต่ในปัจจุบันคงใช้แต่ความสงบ ความร่มรื่น ความงดงามแห่งธรรมชาติ ที่แอบแฝงเอกลักษณ์เฉพาะทางธรณีวิทยาให้ผู้เยี่ยมเยือนได้สัมผัส และเรียนรู้ ทั้งธรรมชาติและประวัติศาสตร์
ตั้งอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัดคือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย ครอบคลุมพื้นที่ 191,875 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 ภูหินร่องกล้ามียอดเขาสูง 1,617 เมตร มีทิวทัศน์สวยงาม ปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา และป่าสนเขา มีสนสองใบและสนสามใบขึ้นปะปนกัน และพบกล้วยไม้ดอกไม้ป่าหลายชนิดขึ้นอยู่ตามลานหิน
ภูหินร่องกล้าเคยเป็นศูนย์กลางที่ตั้งฐานที่มั่นการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของภาคเหนือ ซึ่งเป็นศูนย์กลางแพร่กระจายลัทธิคอมมิวนิสต์ไปสู่เขาค้อ ภูขัด และภูเมี่ยง จนเกิดเป็นปัญหาความมั่นคงทางการเมือง เมื่อเหตุการณ์สงบลงในปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2525 ได้มีการตัดเส้นทางผ่านใจกลางภูหินร่องกล้าและจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ขึ้น จนกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของภาคเหนือตอนล่างในปัจจุบัน 

อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ

มีชื่อเรียกตามชาวบ้านว่า น้ำตกปากรอง ตั้งอยู่ที่บ้านปากรอง ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 145 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่สวยงามมากในจังหวัดพิษณุโลก มีถึง 7 ชั้น แต่ละชั้นมีความงดงามต่างกันออกไป และตั้งชื่อตามนามธิดาท้าวสามลในวรรณคดีไทยเรื่องสังข์ทอง โดยเฉพาะชั้นที่ 3 และ4 น้ำตกจากหน้าผาสูงประมาณ 10 เมตร แผ่เป็นฝอยกระจายทั่ว ชั้นที่เป็นแอ่งใหญ่ที่สุดคือ ชั้นที่ 1 การปีนเขาเพื่อขึ้นชมน้ำตกทั้งเจ็ดชั้นน่าสนุกมาก บางตอนก็เป็นที่สูงชันต้องอาศัยเถาวัลย์ห้อยโหนขึ้นไป บางตอนเป็นช่องแคบ ๆ ต้องเอียงตัวเดิน บางตอนก็ต้องคลาน แต่เมื่อไปถึงบริเวณน้ำตกแล้วจะหายเหนื่อยทันที
นอกจากนี้ในบริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการยังมีสถานที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้แก่  ผาแดง  น้ำตกนาจาน  ผากระดาน  ถ้ำน้ำมุด  ถ้ำกา  

การเดินทางไปน้ำตกชาติตระการนั้น หากเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวให้ใช้เส้นทางสายพิษณุโลก-หล่มสัก เมื่อถึง กม. ที่ 68 (บ้านแยง) เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 2013 ซึ่งเป็นเส้นทางสู่อำเภอนครไทยประมาณ 29 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอชาติตระการไปอีกประมาณ 38 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาอีก 10 กิโลเมตรก็จะถึงน้ำตก หากเดินทางโดยรถประจำทางให้ขึ้นรถสายพิษณุโลก-ชาติตระการที่สถานขนส่ง พิษณุโลก รถออกวันละ 7 เที่ยว ตั้งแต่เวลา 6.00-16.30 น. เมื่อถึงอำเภอชาติตระการแล้วต่อรถสองแถวชาติตระการ-บ้านนาดอนเข้าไปยังน้ำตก

ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก อุทยานมีบริการบ้านพักรายละเอียดติดต่อ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760


เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล

ครอบคลุมเนื้อที่ 1,775 ไร่ ในท้องที่อำเภอเนินมะปราง ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลก 85 กิโลเมตร การเดินทางเริ่มจากตัวเมืองพิษณุโลกไปตามทางหลวงหมายเลข 12 ถึงอำเภอวังทองระยะทาง 20 กิโลเมตร แยกขวาไปยังอำเภอสากเหล็กอีก 38 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 11 แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวง 1115 อีก 17 กิโลเมตร ถึงโรงเรียนเนินมะปรางศึกษาวิทยา (ก่อนถึงตัวอำเภอ 2 กิโลเมตร) มีแยกขวาไปถ้ำผาท่าพลอีก 10 กิโลเมตร เส้นทางบางช่วงเป็นทางลูกรัง ในฤดูฝนควรใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ
พื้นที่บริเวณนี้เป็นภูเขาหินปูน ยอดสูงสุด 236 เมตร มีหน้าผาสูงชันเว้าแหว่ง อันเกิดจากการกัดเซาะของน้ำฝนนับหลายล้านปี เกิดเป็นถ้ำต่าง ๆ มากมายทั่วบริเวณ ได้แก่ ถ้ำนเรศวร ถ้ำเรือ ที่มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ถ้ำลอด ซึ่งสามารถเดินทะลุไปยังอีกด้านหนึ่งของภูเขาได้
นอกจากนี้ยังพบซากดึกดำบรรพ์ของหอยและปะการัง เนื่องจากบริเวณนี้เคยเป็นท้องทะเลมาก่อน และยังมีภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์รูปมือคนบนเพิงผาหิน และอักษรญี่ปุ่นโบราณสลักบนก้อนหิน พรรณไม้และร่องรอยสัตว์ป่าต่าง ๆ ที่มักพบระหว่างทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติ เหมาะแก่การทัศนศึกษาเชิงนิเวศ
นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อขอข้อมูลได้เจ้าหน้าที่เมื่อเดินทางมาถึงยังสำนัก งานเขต การเที่ยวชมถ้ำต่าง ๆ ต้องนำไฟฉายติดตัวมาด้วย ในช่วงฤดูฝนถ้ำบางแห่งไม่สามารถเข้าชมได้เนื่องจากมีน้ำท่วมพื้นถ้ำ หากต้องการพักค้างแรมหรือทัศนศึกษาเป็นหมู่คณะติดต่อล่วงหน้าได้ที่ สำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล หมู่ 6 ต.บ้านมุง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก 65190
โทร. 08 1604 0843, 08 9964 2249
การเดินทาง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพลห่างจากตัวเมืองพิษณุโลก 85 กิโลเมตร การเดินทางเริ่มจากตัวเมืองพิษณุโลกไปตามทางหลวงหมายเลข 12 ถึงอำเภอวังทองระยะทาง 20 กิโลเมตร แยกขวาไปยังอำเภอสากเหล็กอีก 38 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 11 แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1115 อีก 17 กิโลเมตร ถึงโรงเรียนเนินมะปรางศึกษาวิทยา (ก่อนถึงตัวอำเภอ 2 กิโลเมตร) มีแยกขวาไปถ้ำผาท่าพลอีก 10 กิโลเมตร บางช่วงเป็นทางลูกรัง


น้ำตกปอย

ระหว่าง กม. ที่ 59 - 60 ทางหลวงหมายเลข 12 มีทางแยกไปน้ำตกปอยอีก 2 กิโลเมตร บริเวณสวนป่ากระยาง ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นน้ำตกที่มีทัศนียภาพสวยงาม สภาพโดยรอบร่มรื่นเหมาะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ  และในบริเวณสวนป่ายังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติสำหรับผู้ที่สนใจ และมีบริการบ้านพักสำหรับประชาชนทั่วไป (ดูรายละเอียดในสถานที่พัก) 


น้ำตกแก่งโสภา

เส้นทางพิษณุโลก - หล่มสัก อยู่บริเวณกม.ที่ 71 - 72 มีทางแยกเข้าไป 2 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ในลำน้ำเข็ก มีความสูงราว 40 เมตร สภาพโดยรอบร่มรื่น ตอนบนเป็นแผ่นหินเรียบ ส่วนตอนล่างเป็นโขดหินใหญ่ ในช่วงฤดูน้ำหลากสายน้ำจะไหลเชี่ยวกราก ส่วนในช่วงที่น้ำน้อยจะแลเห็นน้ำตกไหลลดหลั่นเป็นชั้นต่างๆ 3 ชั้น ค่าธรรมเนียมเข้าชมสำหรับชาวไทยคนละ 20 บาท ชาวต่างชาติคนละ 200 บาท เด็กไม่เสียค่าธรรมเนียม เปิดเวลา 08.00-17.00 น.


วัดราชคีรีหิรัญยาราม

ตั้งอยู่ที่บ้านสมอแคลง ในเขตอำเภอวังทอง เดินทางจากตัวเมืองพิษณุโลกไปตามทางหมายเลข 12 (เส้นทางสายพิษณุโลก-หล่มสัก) ประมาณ 14 กิโลเมตร (ก่อนถึงอำเภอวังทอง 3 กิโลเมตร) มีทางแยกซ้ายไปอีก 500 เมตร บนเขาสมอแคลงมีสระน้ำเรียกว่า สระสองพี่น้อง มีน้ำตลอดปี คนโบราณจึงได้สร้างวัดไว้ถึง 7 วัด แต่บัดนี้ร้างไปหมดแล้ว สำหรับวัดราชคีรีหิรัญยารามหรือวัดพระพุทธบาทเขาสมอแคลงนี้ เดิมเป็นวัดร้าง และมีพระสงฆ์มาจำพรรษาเพื่อ พ.ศ. 2496 ในบริเวณวัดมีรอยพระพุทธบาทจำลอง และบนเขาซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของวัดมีรอยพระบาทตะแคงอยู่กับหน้าผา มีงานนมัสการพระพุทธบาทในกลางเดือน 3 เป็นประจำทุกปี

เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. 2535 ได้มีการอัญเชิญพระโพธิสัตว์กวนอิม ซึ่งแกะสลักจากหินทะเลสาบหยกขาวจากเมืองหางโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นปางพิเศษที่ได้รับอนุมัติให้สร้างโดยรัฐบาลจีนโดยใช้ต้นแบบจากวัดเจ้า แม่กวนอิมเมืองหางโจว มีขนาดสูง 3 เมตร หนัก 3 ตัน มาประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้
ถัดจากวัดเจ้าแม่กวนอิมขึ้นไปบนเขาจะมีทางแยกไปศาลเจ้าเห้งเจีย ซึ่งชาวไทยเชื้อสายจีนไปไหว้เจ้าทำบุญกันเป็นประจำ และถัดจากศาลเจ้าเห้งเจียขึ้นไปอีกจะเป็นจุดชมวิวสูงสุดของเขาแห่งนี้ เป็นที่ตั้งของพระมหาธาตุเจดีย์ศรีบวรชินรัตน์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระนลาฏ (กระดูกหน้าผาก)ของพระพุทธเจ้า เจดีย์มีลักษณะเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่ฐานประดิษฐานพระพุทธลีลามหาธรรมราชาลิไททั้ง 4 ด้าน    


พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี (จ่าสิบเอกทวี-พิมพ์ บูรณเขตต์)

ตั้งอยู่ที่ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ในตัวเมืองพิษณุโลก เป็นที่เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน ซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากินของชาวบ้านในอดีต ตั้งแต่ชิ้นเล็กๆ จนถึงชิ้นใหญ่ เช่น เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น เครื่องวิดน้ำด้วยมือ เครื่องสีข้าว เครื่องมือดักจับสัตว์ รวมกันแล้วนับหมื่นชิ้น จนได้รับการยอมรับว่าเป็นขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย และได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยประเภทหน่วยงานส่งเสริมและ พัฒนาการท่องเที่ยว เมื่อปี 2541

จ่าสิบเอก ดร. ทวี บูรณเขตต์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ เป็นผู้ที่มีฝีมือในทางประติมากรรม และได้รับการเชิดชูเกียรติมากมาย ท่านได้รับการยกย่องให้เป็น บุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาการช่างฝีมือ แขนงช่างหล่อ ประจำปี 2526 และได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒและมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งการประกาศเกียรติคุณเป็น คนดีศรีพิษณุโลก
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ โดยเก็บค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท ตั้งแต่เวลา 8.30–16.30 น. โทร. 0 5521 2749, 0 5530 1668 ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ เป็นโรงหล่อพระบูรณะไทย ติดต่อเข้าชมการหล่อพระล่วงหน้า โทร. 0 5525 8715


ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ซึ่งเป็นพระราชวังจันทน์มาก่อนในอดีต ตัวศาลเป็นศาลาทรงไทยโบราณตรีมุข พระรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีขนาดเท่าองค์จริง ประทับนั่ง พระหัตถ์ทรงพระสุวรรณภิงคารหลั่งน้ำในพระอิริยาบถประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง สร้างโดยกรมศิลปากร เสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2404 มีการจัดงานสักการะพระบรมรูปในวันที่ 25 มกราคมของทุกปี

เมื่อเดือนมีนาคม 2535 กรมศิลปากรได้ขุดค้นพบแนวเขตพระราชฐานพระราชวังจันทน์ ซึ่งเป็นสถานที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งนับว่าเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีและทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของ จังหวัด ในปัจจุบันกรมศิลปากรได้กลบหลุมขุดเพื่อเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานไว้ จนกว่าจะได้มีการขุดค้นอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง 


วัดจุฬามณี

ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางใต้ตามถนนบรมไตรโลกนารถ ประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานที่มีมาก่อนสมัยสุโขทัย เคยเป็นที่ตั้งของเมืองสองแควเก่า ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงสร้างพระวิหารและเสด็จออกผนวชที่วัดนี้ เมื่อ พ.ศ. 2007 เป็นเวลา 8 เดือน 15 วัน โดยมีข้าราชบริพาร ออกบวชตามเสด็จถึง 2,348 รูป มีโบราณสถานสำคัญคือ ปรางค์แบบขอมขนาดย่อม ฐานกว้าง 11 เมตร ยาว 18 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง ด้านหน้าก่อเป็นแบบตรีมุข ตั้งบนฐานสูงซ้อนกันสามชั้น แต่ละชั้นย่อมุมไม้ยี่สิบ มีปูนปั้นประดับลวดลายตามขั้น ตอนล่างแถบหน้ากระดานและบัวหน้ากระดานเป็นลายหงส์ เหมือนกับองค์ปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี สมัยที่ยังสมบูรณ์อยู่มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ใกล้เคียงกันมีมณฑปพระพุทธบาทจำลองซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้ สร้างขึ้น แผ่นจารึกหน้ามณฑปมีใจความสรุปได้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2221 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีพระบรมราชโองการให้ใช้ผ้าทาบรอยพระพุทธบาท สลักลงบนแผ่นหิน พระราชทานไว้เป็นที่กราบไหว้ของฝูงชน 


น้ำตกแก่งซอง

เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ด้านจังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่ที่ตำบลแก่งซอง ริมทางหลวงหมายเลข 12 บริเวณ กม.45 เกิดจากลำน้ำเข็กลดระดับทำให้ธารน้ำมีลักษณะเป็นน้ำตก มีขนาดใหญ่กว่าน้ำตกสกุโณทยานที่อยู่บนเส้นทางสายเดียวกัน บริเวณน้ำตกแก่งซอง มีบ้านเรือนต่างๆ ตั้งอยู่ริมน้ำตก มีสะพานแขวนเดินชมทิวทัศน์แม่น้ำเข็กและข้ามไปหมู่บ้านฝั่งตรงข้าม ตามรายทางใกล้กับน้ำตกแก่งซอง มีร้านอาหาร ร้านกาแฟและบริการล่องแก่งน้ำเข็กที่ตื่นเต้นสนุกสนาน ล่องได้เฉพาะช่วงฤดูน้ำหลากประมาณสิงหาคมถึงตุลาคม 


อนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางท่าว

ตั้งอยู่ในวัดกลางในตัวอำเภอนครไทย เชื่อกันว่าบริเวณนี้เคยเป็นเมืองบางยาง ซึ่งปกครองโดยพ่อขุนบางกลางท่าว (หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย)  ด้านหลังอนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางท่าว มีต้นจำปาขาว อายุกว่า 700 ปี ลำต้นสูงใหญ่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ และยังออกดอกให้ชมอยู่จนทุกวันนี้  นอกจากนี้ที่อำเภอนครไทยยังมีประเพณีปักธงชัยบนยอดเขาช้างล้วงในช่วงวันลอย กระทงอีกด้วย

 


วัดราชบูรณะ

 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ทางใต้ของวัดพระศรีมหาธาตุ พระอุโบสถมีลักษณะพิเศษคือ ที่ชายคาตกแต่งด้วยนาค 3 เศียร มีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม พิจารณาดูตามชื่อแล้ว วัดราชบูรณะน่าจะเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง เชื่อว่าเป็นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ เนื่องจากทรงประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกถึง 25 ปี และทรงมีบทบาททางบำรุงพระศาสนาที่พิษณุโลกมากที่สุด


น้ำตกวังนกแอ่นหรือสวนรุกชาติสกุโณทยาน 

ตั้งอยู่ที่บริเวณ กม. 33 ทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก - หล่มสัก) แยกขวาไปอีก 1 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็กในลำธารวังทอง อันมีต้นกำเนิดมาจากลำน้ำเข็ก บริเวณทั่วไปร่มรื่นด้วยพรรณไม้ต่าง ๆ มีป้ายชื่อต้นไม้กำกับไว้ ด้านทิศตะวันตกมีพลับพลาสร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คราวเสด็จประพาสภาคเหนือ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2501 ด้านทิศตะวันออกมีศาลาริมน้ำ ใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรทิวทัศน์สองฝั่งลำน้ำวังทอง ก่อนถึงตัวน้ำตก 500 เมตรมีป้ายบอกทางเลี้ยวขวาไปยังแก่งไทร ซึ่งเป็นแก่งหินคั่นกลางลำน้ำเป็นขั้นๆ เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ


เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่  
มีพื้นที่กว่า 80,000 ไร่ ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 ที่ตั้งสำนักงานเขตฯ ตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านป่าคาย หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านนายาง อำเภอวัดโบสถ์ ห่างจากตัวเมือง 45 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับอุทยานแห่งชาติแก่งเจ็ดแคว จากพิษณุโลกเดินทางไปอำเภอวัดโบสถ์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 12 ระยะทาง 6 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 11 อีก 25 กิโลเมตร ก่อนขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำแควน้อยมีทางแยกไปบ้านนาขามตามเส้นทาง 1220 อีก 8 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางเข้าเขตห้ามล่าฯ อีก 6 กิโลเมตร เป็นทางลูกรังและมีจุดที่ต้องขับผ่านธารน้ำไหล จำเป็นต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อในช่วงฤดูฝนเขาน้อย-เขาประดู่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 100 - 500 เมตร ประกอบด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และทุ่งหญ้า มีความหลากหลายทางด้านพืชพรรณ มีดอกไม้ตามฤดูกาลที่สวยงามคือดอกกระเจียวและกล้วยไม้ และยังเป็นแหล่งค้นพบปูพันธุ์ใหม่ ที่เรียกว่า ปูแป้ง หรือ ปูสองแคว เหมาะแก่การท่องเที่ยวทัศนศึกษาเชิงนิเวศในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม ผู้สนใจเดินเท้าตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ทางเขตฯได้ทำไว้หรือติดต่อพักแรม สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานเขตได้โดยตรงหรือติดต่อล่วงหน้าที่ สำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่ หมู่ 2 ต.บ้านยาง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก 65000 

ัอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว 

ครอบคลุมพื้นที่ในเขต อ. ชาติตระการ จ.พิษณุโลก และ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงตามแนวชายแดนไทย - ลาว บริเวณที่สูงที่สุดคือ ยอดภูสอยดาว สูงถึง 2,102 เมตร อากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี สภาพป่าส่วนใหญ่ยังอุดมสมบูรณ์ มีทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ทำกินของชาวเขาเผ่าม้ง แหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ ได้แก่ ป่าสน ทุ่งดอกไม้ หน้าผาจุดชมวิว น้ำตกสายทิพย์ และน้ำตกภูสอยดาว พื้นที่ป่าสนสามใบ เหมาะแก่การมาเที่ยวชมในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน เนื่องจากจะพบเห็นทะเลหมอกและดอกไม้ต่างๆ โดยเฉพาะดอกหงอนนาคขึ้นอยู่ทั่วไป และกล้วยไม้ป่าตามคาคบไม้ใหญ่ ระยะทางเดินทางจากเชิงเขา 6.5 กิโลเมตร บางช่วงเป็นเส้นทางชัน ใช้เวลาประมาณ 4 - 5 ชั่วโมง มีสถานที่กางเต็นท์และห้องสุขาบริการ

การเดินทาง  ใช้เส้นทาง พิษณุโลก-อ.วัดโบสถ์-บ้านโป่งแค-อ.ชาติตระการ-ภูสอยดาว ระยะทาง 177 กิโลเมตร หรือ ใช้เส้นทางพิษณุโลก-บ้านแยง-อ.นครไทย-อ.ชาติตระการ-ภูสอยดาว ระยะทางรวม 154 กิโลเมตร
1.   เดินทางโดยรถไฟหรือรถโดยสารจากกรุงเทพฯ ไปพิษณุโลก แล้วต่อรถโดยสารไปอำเภอชาติตระการ และโดยสารรถสองแถวสายชาติตระการ-บ้านร่มเกล้า รถออกทุกชั่วโมง ระหว่างเวลา 9.00-16.00 น. จากนั้นต้องจ้างเหมารถจากบ้านร่มเกล้าไปยังอุทยานฯ หรือเช่าเหมาจากอำเภอชาติตระการไปยังอุทยานฯ เลยก็ได้
2.   เดินทางโดยรถไฟหรือรถโดยสารจาก กรุงเทพฯ ไปอุตรดิตถ์ ต่อรถโดยสารที่ตลาดต้นโพธิ์หรือหอนาฬิกาไปอำเภอน้ำปาด ใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง ลงรถที่หน้าโรงพยาบาลอำเภอน้ำปาด และเหมารถสองแถวไปภูสอยดาว ราคาประมาณ 300 บาท ใช้เวลาเดินทางอีก 3 ชั่วโมง (เป็นเส้นทางคดโค้งผ่านภูเขา)
บริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีบ้านพักรับรอง 3 หลัง ติดต่อล่วงหน้า โทร. 0 5541 9234  หรือที่อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ 53110 การพักค้างแรมบนลานสน ต้องนำเต็นท์มาเอง ติดต่อลูกหาบได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว


วัดนางพญา

 ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับวัดราชบูรณะ ถัดไปทางทิศตะวันออก มีลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยเดียวกับวัดราชบูรณะ ต่างกันที่วัดนางพญาไม่มีพระอุโบสถมีแต่วิหาร วัดนี้มีชื่อเสียงในด้านพระเครื่อง เรียกว่า พระนางพญา ซึ่งเล่าลือกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ พระนางพญาเป็นสุดยอดพระ หนึ่งในชุดเบญจภาคี พระเครื่องนางพญามีชื่อเสียงทางด้านเมตตามหานิยม โดยเฉพาะสุภาพสตรีที่เป็นนักปกครองและหัวหน้างาน ต้องดูแลลูกน้องจำนวนมาก โดยจะมีความเชื่อว่าจะทำให้ผู้ใต้ปกครองยำเกรงประดุจ "นางพญา" ปัจจุบันหาได้ยากมาก มีก็แต่ที่ได้สร้างจำลองขึ้นภายหลัง มีการพบกรุพระเครื่องครั้งแรกใน พ.ศ. 2444 และครั้งหลังเมื่อ พ.ศ. 2497


วัดเจดีย์ยอดทอง 

ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองพิษณุโลก บนถนนพญาเสือ ทางเดียวกับวัดอรัญญิก ปัจจุบันเหลือเพียงเจดีย์ทรงดอกบัวตูมที่เป็นศิลปสุโขทัยเพียงองค์เดียวที่ พบในพิษณุโลก เจดีย์มีฐานกว้างประมาณ 9 เมตร สูง 21 เมตร เฉพาะที่ยอดทรงดอกบัวตูมนั้น ได้เห็นรอยกระเทาะของปูนทำให้แลเห็นการเสริมยอดโดยการพอกปูนเพิ่มที่ยอดแหลม ของดอกบัว 


หอศิลปและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยนเรศวร  

ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยนเรศวร (ส่วนสนามบิน) ถนนสนามบิน อำเภอเมือง จัดตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภายในจัดแสดงผลงานศิลปกว่าร้อยชิ้นของศิลปินที่มีชื่อเสียงของไทย อาทิ สวัสดิ์ ตันติสุข พูน เกษจำรัส ประยูร อุลุชาฎะ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ประเทือง เอมเจริญ และชวลิต เสริมปรุงสุข เป็นต้น และยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับ วิถีชุมชนภาคเหนือตอนล่าง จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องมือทำมาหากินต่างๆ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ระหว่างเวลา 9.00 – 18.00 น. โทร. 0 5523 0720


สวนนกไทยศึกษา

เปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปเข้าชมแหล่งอนุรักษ์เรียนรู้นกที่พบใน เมืองไทย ซึ่งบางชนิดหายาก และใกล้จะสูญพันธุ์ และบางชนิดได้สูญพันธุ์ไปแล้ว อาทิ นกเปล้าหน้าแดง ที่มีความสะดุดตา นกเงือกชนหินหน้าตาคล้ายสัตว์ดึกดำบรรพ์ คอเปลือย ไม่มีขน ผมบนหัวทรงพั้งค์ และเป็นตัวเดียวในประเทศไทย รวมทั้งทางสวนนกไทยศึกษาได้รวบรวมนกในวรรณคดีไทย เช่น นกขมิ้น นกโพระดก นกกาเหว่า นกสาลิกาเขียว และนกขุนแผน รวมทั้งนกอื่นๆ อีกหลายชนิดที่สามารถเลียนเสียงมนุษย์และมีเสียงร้องที่ไพเราะ รวมทั้งสิ้นประมาณ 120 ชนิด 
ทั้งภายในบริเวณสวนนกไทยศึกษายังมีความร่มรื่นด้วยต้นไม้หลากหลายพันธ์ เพื่อให้นกได้อยู่อาศัยใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. อัตราค่าเข้าชมผู้ใหญ่คนละ 50 บาท เด็ก 20 บาท สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สวนนกไทยศึกษา เลขที่ 26/43 ถ.วิสุทธิ์กษัตริย์ ซอย 17 อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65000 โทรศัพท์ / โทรสาร 0 5521 2540 ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี หรือดูรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์


พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร

จัดแสดงที่ชั้นสองของอาคารเอนกประสงค์ในมหาวิทยาลัยนเรศวร (ทุ่งหนองอ้อ) ประกอบด้วยห้องจัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ จัดแสดงผ้า ผลิตภัณฑ์จากผ้า ที่นำมาจากแหล่งต่าง ๆ ของประเทศไทยและต่างประเทศ ผ้าและวิถีชีวิตของชาวไทยครั่ง มีบริการข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยและเอกสารเกี่ยวกับการผลิต การศึกษาเรื่องผ้าประเภทต่าง ๆ รวมทั้งจัดแสดงชุดฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถซึ่งพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งจำหน่ายผ้าพื้นเมือง ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ระหว่างเวลา 8.30 – 16.30 น.) โทร. 0 5526 1000-4
การเดินทาง มหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่ก่อนถึงตัวเมืองประมาณ 10 กม. ริมทางหลวงหมายเลข 117 (สายนครสวรรค์-พิษณุโลก) ด้านขวามือ


กำแพงเมืองคูเมือง

เดิมเป็นกำแพงดินเช่นเดียวกับกำแพงเมืองสุโขทัย คาดว่าสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเพื่อเตรียมรับศึกพระเจ้าติ โลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ได้โปรดให้ซ่อมแซมกำแพงเมืองอีกครั้งเพื่อเตรียมรับ ศึกพม่า ครั้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้ช่างฝรั่งเศสสร้างกำแพงใหม่โดย ก่ออิฐให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้รื้อกำแพงเมืองและป้อมต่างๆ เสีย เพื่อไม่ให้พม่าซึ่งรุกรานไทยยึดเป็นที่มั่น กำแพงเมืองที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้คือ บริเวณวัดโพธิญาณ วัดน้อย และบริเวณสถานีตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก สำหรับคูเมือง พบเห็นได้ตามแนวที่ขนานกับถนนพระร่วง (หลังสถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม)


ถ้ำพระวังแดง 

เป็นถ้ำที่ยาวและใหญ่เชื่อมต่อกันหลายถ้ำ มีความยาวประมาณ 12.5 กิโลเมตร ถือว่าเป็นถ้ำที่ยาวมาก ภายในถ้ำมีห้องโถงขนาดใหญ่มีหินงอกหินย้อยสวยงาม และมีลำห้วยอยู่ด้านล่างภายในลำห้วยมีสิ่งที่น่าสนใจเป็นปลาพันธุ์ใหม่หายาก คือ ปลาค้อถ้ำพระวังแดง หรือ ปลาไม่มีตาเนื่องจากอาศัยอยู่ในถ้ำเป็นเวลานานจนมีการปรับสภาพให้เหมาะแก่ การดำรงชีวิตภายในถ้ำซึ่งไม่มีแสงเพียงพอ ลักษณะลำตัวยาว 15 เซนติเมตร หลังค่อม ริมฝีปากหนา ไม่ม่ตา แต่เห็นเป็นรอยเล็กๆ และมีติ่งหนังด้านหน้า ลำตัวสีชมพูอมเหลืง ปลาอีกพันธุ์หนึ่งที่พบในถ้ำนี้คือ ปลาถ้ำพลวง หรือ ปลาตาบอดมีลักษณะแตกต่างจากปลาพลวงชนิดอื่นๆ คือ มีตาเล็กและมีหนังบางๆ หุ้มโดยรอบดวงตา ริมฝีปากหนา มีหนวด 2 คู่ หลังโค้งมนมีเกล็ดบางบำตัวสีชมพูจางปนกับสีเทาอ่อนๆ ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร

การเข้าไปเที่ยวชมภายในถ้ำ ควรติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง (หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงที่ 5) เพื่อหลีกเลี่ยงอันตายหรือพลัดหลง


เสาหลักเมืองพิษณุโลก  

ประดิษฐานอยู่ภายในศาลหลักเมือง ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอเมือง ออกแบบอาคารโดยกรมศิลปากร เป็นแบบยอดปรางค์ เสาหลักเมืองทำจากไม้มงคลหลายชนิด คือ จากโคนลำต้นถึงลูกฟัก ทำจากไม่ราชพฤกษ์ ท่อนลูกแก้วท่อนบนทำจากไม้ชิงชัน ส่วนยอดบัวตูมประกอบด้วยลูกแก้วทำจากไม้สักทองตายพราย และได้นำไปเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามที่กรุงเทพฯ