|
|
-
สิ่งก่อสร้างภายในพระราชวังแบ่งตามยุคสมัยเป็น 2 กลุ่ม คือพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งศิลปกรรมแบบไทยและฝรั่งเศสผสมกัน เดิมเป็นท้องพระโรงมียอดแหลมทรงมณฑป ตรงกลางท้องพระโรงมีสีหบัญชร ซึ่งเป็นที่เสด็จออกเพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้า ประตูและหน้าต่างท้องพระโรงซึ่งอยู่ด้านหน้าทำเป็นโค้งแหลม ส่วนตัวมณฑปซึ่งอยู่ด้านหลังทำประตูหน้าต่างเป็นซุ้มแบบไทย คือ ซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ในจดหมายเหตุทูตฝรั่งเศส กล่าวพรรณนาพระที่นั่งว่า “ตามผนังประดับด้วยกระจกเงา ซึ่งนำมาจากฝรั่งเศส เพดานแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส 4 ช่อง ประดับด้วยลายดอกไม้ทองคำ และแก้วผลึกที่ได้มาจากเมืองจีนงดงามมาก” ผนังด้านนอกพระที่นั่งตรงมณฑปชั้นล่างเจาะเป็นช่องโค้งแหลมไว้สำหรับวาง ตะเกียง ซึ่งจะเห็นได้อีกเป็นจำนวนมากตามซุ้มประตูและกำแพงของพระราชวัง สมเด็จพระนารายณ์ฯ เคยเสด็จออกรับคณะราชทูตฝรั่งเศส เชอวาเลีย เดอ โชมองต์ ที่พระที่นั่งองค์นี้ในปี พ.ศ. 2228 ด้วย
-
พระที่นั่งจันทรพิศาล สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2208 เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ที่สร้างทับลงไปบนรากฐานเดิมของพระที่นั่งซึ่งพระราเมศวรโอรสองค์ใหญ่ของพระ เจ้าอู่ทองได้ทรงสร้างเมื่อครั้งครองเมืองลพบุรี พระที่นั่งองค์นี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ ด้านหน้ามีมุขเด็จ ภายหลังเมื่อได้สร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ขึ้น สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงย้ายไปประทับที่พระที่นั่งองค์ใหม่ และโปรดให้ใช้พระที่นั่งจันทรพิศาลเป็นที่ออกขุนนาง ซึ่งตรงกับบันทึกของชาวฝรั่งเศสว่าเป็นหอประชุมองคมนตรี ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงบูรณะพระที่นั่งองค์นี้ตามแบบของเดิม ปัจจุบันตัวอาคารใช้เป้นพิพิธภัณฑฯ จัดแสดงเรื่องราวพระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและงานประณีตศิลป์ สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์
|
|
-
พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า “พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ในพระราชอุทยานที่ร่มรื่น ทรงปลูกพรรณไม้ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง หลังคาพระที่นั่งมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ที่มุมทั้งสี่ มีสระน้ำใหญ่สี่สระ เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดิน” สมเด็จพระนารายณ์ฯ สวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231
-
ตึกพระเจ้าเหา ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของเขตพระราชฐานชั้นนอก ตึกหลังนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้อย่างชัดเจนมาก เป็นตึกที่สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ยกพื้นสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ตัวตึกเป็นรูปทรงไทย ฐานก่อด้วยศิลาแลง และจึงก่ออิฐขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ปัจจุบันเหลือแต่ผนังประตูหน้าต่าง ทำเป็นซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ปัจจุบันคงปรากฏลายให้เห็นอยู่ ด้วยเหตุว่าภายในตึกมีฐานชุกชีปรากฏให้เห็นอยู่และชาวฝรั่งเศสได้ระบุว่า เป็นวัด จึงสันนิษฐานว่าเป็นหอพระประจำพระราชวัง ตึกพระเจ้าเหาหรือ “พระเจ้าหาว” (หาวเป็นภาษาไทยโบราณ หมายถึงท้องฟ้า) ในตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ พระเพทราชา และขุนหลวงสรศักดิ์ใช้ตึกพระเจ้าเหาเป็นที่นัดแนะประชุมขุนนางและทหารเพื่อ แย่งชิงราชสมบัติขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงพระประชวรหนัก
-
ตึกรับรองแขกเมือง ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ใกล้กับหมู่ตึกสิบสองท้องพระคลังเป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ตึกหลังนี้อยู่กลางอุทยาน ซึ่งแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส รอบตึกมีคูน้ำล้อมรอบ ภายในคูน้ำมีน้ำพุเรียงรายเป็นระยะอยู่ 20 แห่ง จากเค้าโครงที่เห็นแสดงว่าในสมัยก่อนคงจะสวยงามมาก ทางด้านหน้าตึกเลี้ยงรับรองมีรากฐานเป็นอิฐแสดงให้เห็นว่าตึกหลังเล็ก ๆ คงจะเป็นโรงมหรสพ ซึ่งมีการแสดงให้แขกเมืองชมภายหลังการเลี้ยงอาหาร สมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้พระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตจากประเทศฝรั่งเศส ณ สถานที่นี้ใน พ.ศ. 2228 และ พ.ศ. 2230
-
พระคลังศุภรัตน์ (หมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง) เป็นหมู่ตึกตั้งอยู่ระหว่างอ่างเก็บน้ำประปาและตึกซึ่งใช้เป็นสถานที่พระราช ทานเลี้ยงชาวต่างประเทศ สร้างขึ้นอย่างมีระเบียบด้วยอิฐเป็น 2 แถวยาวเรียงชิดติดกัน อาคารมีลักษณะค่อนข้างทึบ มีถนนผ่ากลาง จำนวนรวม 12 หลัง เข้าใจว่าเป็นคลังเพื่อเก็บสินค้า หรือเก็บสิ่งของเพื่อใช้ในราชการ
-
อ่างเก็บน้ำหรือถังเก็บน้ำประปา ก่อด้วยอิฐยกขอบเป็นกำแพงสูงหนาเป็นพิเศษ ตรงพื้นที่มีท่อดินเผาฝังอยู่เพื่อจ่ายน้ำไปใช้ตามตึกและพระที่นั่งต่างๆ โดยท่อดินเผาจากทะเลชุบศรและอ่างซับเหล็กตามบันทึกกล่าวว่า ระบบการจ่ายทดน้ำเป็นผลงานของชาวฝรั่งเศสและอิตาเลียน
-
โรงช้างหลวง ตั้งเรียงรายเป็นแถวชิดริมกำแพงเขตพระราชฐานชั้นนอกด้านในสุด โรงช้างส่วนใหญ่ปรักหักพังเหลือแต่ฐานปรากฏให้เห็นประมาณ 10 โรง ช้างซึ่งยืนโรงในพระราชวัง คงเป็นช้างหลวงหรือช้างสำคัญ สำหรับใช้เป็นพาหนะของสมเด็จพระนารายณ์ฯ เจ้านายหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่
สิ่งก่อสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฏและอาคารต่างๆ ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนารายณ์
-
หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2405 เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์ เมื่อครั้งเสด็จบูรณะเมืองลพบุรี ประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ คือ พระที่นั่งพิมานมงกุฏ เป็นที่ประทับ พระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย เป็นท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน พระที่นั่งไชยศาสตรากร เป็นที่เก็บอาวุธ พระที่นั่งอักษรศาสตราคม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชทานให้เป็นศาลากลางจังหวัด ต่อมาเมื่อศาลากลางจังหวัดย้ายไปอยู่ที่ใหม่ พระที่นั่งหมู่นี้จึงรวมกับพระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
-
หมู่ตึกพระประเทียบ ตั้งอยู่บริเวณหลังพระที่นั่งพิมานมงกุฎ ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานฝ่ายใน เป็นตึกชั้นเดียว 2 หลัง ก่อด้วยอิฐถือปูนสูง 2 ชั้น เรียงรายอยู่ 8 หลัง สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของข้าราชการฝ่ายในที่ตามเสด็จรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองลพบุรี
-
ทิมดาบหรือที่พักของทหาร รักษาการณ์ เมื่อเดินผ่านประตูทางเข้าเขตพระราชฐานชั้นกลาง ข้างประตูทั้งสองด้านตรงบริเวณสนามหญ้าจะแลเห็นศาลาโถงข้างละหลัง นั่นคือตึกซึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักของทหารรักษาการณ์ในเขตพระราชวัง
-
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ จัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุ และนิทรรศการ ตามอาคารต่างๆ ในบริเวณพระนารายนณ์ราชนิเวศน์ ดังนี้
-
1. พระที่นั่งพิมานมงกุฎ จัดแสดงหลักฐานโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีลุ่ม แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณภาคกลางของประเทศไทยและแหล่งโบราณคดีจังหวัดลพบุรี โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เตาดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากโลหะ ภาชนะสำริด เครื่องประดับทำจากหินและเปลือกหอย เป็นต้น ภายในพระที่นั่งแบ่งเป็นห้องต่างๆ ได้แก่
-
- ห้องภาคกลางประเทศไทย พ.ศ. 800-1500 รับอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียที่เรียกว่า สมัยทวารวดี จัดแสดงเรื่องการเมือง การตั้งถิ่นฐาน เทคโนโลยีและการดำเนินชีวิต อักษร ภาษา ศาสนสถาน ศาสนาและความเชื่อถือ หลักฐานที่จัดแสดงได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ดินเผา เหรียญตราประทับดินเผา จารึกภาษาบาลี สันสกฤต และรูปเคารพต่าง ๆ
-
- ห้องอิทธิพลศิลปะเขมร-ลพบุรี จัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 โบราณคดีสมัยชนชาติขอมแผ่อิทธิพลเข้าปกครองเมืองลพบุรี และบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ได้แก่ ทับหลัง พระพุทธรูปปางนาคปรก พระพุทธรูปปางประทานอภัย เป็นต้น
-
- ห้องประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย จัดแสดงศิลปกรรมที่พบตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-18 ได้แก่ ศิลปะแบบหริภุญไชย ศิลปะล้านนา ศิลปะสมัยลพบุรี เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระพิมพ์ และพระพุทธรูปสำริดสมัยต่าง ๆ
-
- ห้องประวัติศาสตร์ศิลปกรรมสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 -24 ได้แก่ พระพุทธรูป เครื่องถ้วย เงินตรา อาวุธ เครื่องเงิน เครื่องทอง และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมปูนปั้น และไม้แกะสลักต่าง ๆ
-
- ห้องศิลปร่วมสมัย จัดแสดงภาพเขียนและภาพพิมพ์ศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทย
-
- ห้องประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและพระราชประวัติของสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ซึ่งโปรดฯ ให้สร้างพระราชวัง ณ เมืองลพบุรี เมื่อ พ.ศ. 2399 ได้แก่ ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ฉลองพระองค์ เครื่องใช้ แท่นพระบรรทม เหรียญทอง และจานชามมีรูปมงกุฎซึ่งเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ เป็นต้น
-
2. พระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบทรงไทย จัดแสดงเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และพระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นอกจากนี้ยังมีศาสนวัตถุต่างๆ ในพุทธศตวรรษที่ 19-24 ห้องด้านหลังจัดแสดงงานประณีตศิลป์สมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์
-
3. หมู่ตึกพระประเทียบ (อาคารชีวิตไทยภาคกลาง) เป็นอาคารลักษณะสถาปัตยกรรมผสมแบบตะวันตก จัดแสดงเรื่องชีวิตไทยภาคกลาง การดำรงชีวิต ที่อยู่อาศัย เครื่องมือ เครื่องใช้ประกอบอาชีพประมง การเกษตร ศิลปหัตกรรมพื้นบ้านของคนไทยในภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดลพบุรีที่ใช้ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
-
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประจำปี 2545 รางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม บริเวณพิพิธภัณฑ์ฯ เปิดให้เข้าชมในวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. ส่วนโบราณสถานพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เปิดให้เข้าชม วันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 07.00-17.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3641 1458
|
|
|