WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายพระรามหก ตำบลห้วยทรายเหนือ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 216 เลยหาดชะอำมา 8 กิโลเมตร เป็นพระตำหนักที่ประทับริมทะเล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อพระตำหนักหาดเจ้าสำราญมาปลูกขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2466 ได้รับขนานนามว่า “พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง” ลักษณะเป็นพระตำหนักแบบไทยผสมยุโรป เป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง สร้างด้วยไม้สักทอง พระตำหนักฝ่ายในอยู่ปีกขวา ทางปีกซ้ายเป็นส่วนของฝ่ายหน้า ประกอบด้วยพระที่นั่งสามองค์เชื่อมต่อถึงกันโดยตลอด พระที่นั่งสมุทรพิมาน เป็นที่ประทับของพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรชายา พระที่นั่งพิศาลสาครเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอาคารข้าราชบริพารฝ่ายหน้าเป็นบริวารหลายหลัง และมีแนวระเบียงยื่นลงสู่ทะเลเป็นที่ลงสรงน้ำ และพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ เป็นอาคารโถงสองชั้นเปิดโล่งใช้เป็นที่ประชุมในโอกาสต่าง ๆ และเป็นโรงละครซึ่งเคยจัดแสดงละครครั้งสำคัญ 2 ครั้ง คือ เรื่องพระร่วง และวิวาห์พระสมุทร
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันพุธ ค่าเข้าชม ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 15 บาท    นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงยังมีจุดที่น่าสนใจอื่น ๆ อีกได้แก่ ได้แก่ บ้านพักข้าราชบริพาร อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้านเจ้าพระยารามราฆพ  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3250 8443-4  เว็บไซต์ http://mrigadayavan.org

สิ่งอำนวยความสะดวก
- ลานจอดรถ
- ร้านอาหาร
- ร้านขายของที่ระลึก
- รถเข็นสำหรับผู้พิการ
- จักรยานให้เช่า

หมายเหตุ - ผู้เข้าชมพระตำหนักต้องแต่งกายสุภาพ ผู้ที่ใส่กางเกงขาสั้นมีบริการผ้านุ่งให้สวมใส่ 

Camel Republic
ท่องเที่ยว แนวตะออก สัมผัสความสนุกกับเครื่องเล่นแนว Advanture
และสนุกกับการได้ขี่อูฐเหมือนได้อยู่กลางทะเลทราย

Danus Hobby Farm
บรรยากาศฟาร์ม แนวตะวันตก ทางฟาร์ม มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้สนุสนาน
ทั้งการถ่ายรูป ให้อาหารแกะ นั่งรถม้า ชมวิวรอบฟาร์ม และอื่นๆที่ทางฟาร์ม
จัดเตรียมไว้ให้กับนักท่องเที่ยวได้สนุก และพักผ่อนกัน อย่างเต็มอิ่มค่ะ
เหมาะกับการท่องเที่ยว ทั้งแบบครอบครัว และมาเป็นแบบคู่รัก

พันธ์สุข(1000 สุข)
เที่ยวฟาร์ม แนวตะวันตก ทางฟาร์ม มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้สนุสนาน
ทั้งการถ่ายรูป ให้อาหารแกะ นั่งรถม้า ชมวิวรอบฟาร์ม และอื่นๆที่ทางฟาร์ม
เหมาะกับการท่องเที่ยว ทั้งแบบครอบครัว และมาเป็นแบบคู่รัก

Swiss Sheep Farm
ตั้งอยู่ จังหวัดเพชรบุรี บรรยกาศธรรมชาติ สไตล์ฟาร์ม ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส บรรยากาศฟาร์ม แนวตะวันตก ทางฟาร์ม มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้สนุสนาน ทั้งการถ่ายรูป ให้อาหารแกะ นั่งรถม้า ชมวิวรอบฟาร์ม และอื่นๆที่ทางฟาร์มจัดเตรียม
ไว้ให้กับนักท่องเที่ยวได้สนุก และพักผ่อนกัน อย่างเต็มอิ่มค่ะ เหมาะกับการท่องเที่ยว ทั้งแบบครอบครัว และมาเป็นแบบคู่รัก แบบว่าบรรยากาศให้มาสวีธ กันน่ะค่ะ

พระรามราชนิเวศน์ หรือ “พระราชวังบ้านปืน”

ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหม้อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นพระราชนิเวศน์สำหรับประทับแรมในฤดูฝน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่จากราษฎร และให้จอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ออกแบบโดยมิสเตอร์คาล เดอริง ชาวเยอรมัน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2452 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท และทรงเปลี่ยนเป็นพระรามราชนิเวศน์ ปี พ.ศ. 2461 ใช้เป็นที่รับรองแขกเมือง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนผู้กำกับลูกเสือ โรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรกรรม โรงเรียนประชาบาลประจำตำบล

พระรามราชนิเวศน์ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. โดยค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ 5 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท สำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องการวิทยากรบรรยาย สามารถทำหนังสือถึงผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเพชรบุรี ค่ายรามราชนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี 76000 โทร. 0 3242 8506-10 ต่อ 50259


อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)

เป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ 3 ยอด ยอดที่สูงที่สุดสูง 95 เมตร แต่เดิมชาวบ้านเรียกภูเขานี้ว่า “เขาสมน” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขา แห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระสมุหกลาโหมเป็นแม่กองก่อสร้าง จนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2403 ทรงพระราชทานนามว่าพระนครคีรี แต่ชาวเมืองเพชรเรียกกันติดปากว่าเขาวัง สืบมาจนบัดนี้ พระนครคีรีมีพระที่นั่ง พระตำหนัก วัด และกลุ่มอาคารต่าง ๆ มากมาย ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนิโอคลาสสิคผสมสถาปัตยกรรมจีน ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ๆ 3 ยอดด้วยกัน ดังนี้ 


หาดชะอำ

ยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี 41 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าชายหาด ระยะทาง 2 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่สวยงามและมีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี เดิมชะอำเป็นเพียงตำบลหนึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอหนองจอก แต่ภายหลังที่หัวหินมีชื่อเสียง ที่ดินแถบชายทะเลถูกจับจองหมด เจ้านายชั้นผู้ใหญ่สมัยนั้นจึงพยายามหาสถานที่พักผ่อนแห่งใหม่ โดยการนำของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และได้พบว่าหาดชะอำเป็นชายหาดที่สวยงามไม่แพ้หัวหิน ชะอำจึงเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่นั้นมา ชะอำได้รับการพัฒนาเจริญเติบโตขึ้น และยกฐานะเป็นอำเภอจนปัจจุบัน

การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดขบวนการรถไฟพิเศษนำเที่ยวกรุงเทพฯ-ชะอำ ทุกวันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ รายละเอียดติดต่อหน่วยบริการเดินทาง โทร. 0 2225 6964


หาดเจ้าสำราญ

เป็นชายหาดที่เคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากตั้งแต่สมัยโบราณ ตามประวัติเล่ากันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เคยเสด็จมาที่นี่พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงพอพระราชหฤทัยในความงามของหาดแห่งนี้มาก ทรงประทับแรมอยู่หลายวัน จนกระทั่งชาวบ้านเรียกหาดนี้ว่า หาดเจ้าสำราญ มาจนปัจจุบัน หาดเจ้าสำราญเจริญถึงขีดสุดในสมัยรัชกาลที่ 6 หาดเจ้าสำราญมีชื่อเสียงกว่าชายทะเลแห่งใด ๆ ในเมืองไทยสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักที่ประทับขึ้น ณ ริมหาดแห่งนี้เรียกว่า พระตำหนักหาดเจ้าสำราญ สำเร็จในปีพ.ศ. 2461 ต่อมารื้อไปสร้างใหม่ที่บริเวณอำเภอชะอำ เรียกชื่อว่า “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” บริเวณหาดเจ้าสำราญบางส่วนทำเป็นกันน้ำทะเลเซาะชายฝั่ง บางส่วนเป็นหาดทรายเล่นน้ำได้ มีที่พักและร้านอาหารบริการ

การเดินทาง อยู่ห่างจากตลาดเมืองเพชรบุรี 15 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 3177 ผ่านสถาบันราชภัฏเพชรบุรีไปประมาณ 13 กิโลเมตร สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง สามารถนั่งรถสองแถวที่วิ่งระหว่างตัวเมือง-หาดเจ้าสำราญ รถจะจอดบริเวณข้างธนาคารกรุงไทย ถนนวัดท่อใกล้หอนาฬิกา มีบริการตั้งแต่เวลา 07.30-18.15 น. 


แหลมเหลว
ห่างจากอำเภอบ้านแหลมประมาณ 1 กิโลเมตร ระหว่างทางจากบ้านแหลมไปบางตะบูน บริเวณแหลมเหลวเป็นหมู่บ้านของชาวประมง  มีสะพานไม้ทอดผ่านหมู่บ้านและป่าชายเลนไปยังร้านอาหารริมชายทะเล  บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของลิงฝูงใหญ่ ซึ่งมักออกมาคอยอาหารจากผู้คนอยู่ทั่วไป 

วัดกำแพงแลง
อยู่ที่ถนนพระทรง ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้เดิมเป็นเทวสถานในสมัยขอม สร้างตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ต่อมาเมื่ออิทธิพลของศาสนาพุทธได้แผ่ขยายเข้ามาในบริเวณนั้น จึงได้ดัดแปลงเทวสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายาน และหินยานตามลำดับ เทวสถานที่สร้างขึ้นเดิมมีปรางค์ 5 หลัง ทำด้วยศิลาแลง ปัจจุบันเหลือเพียง 4 หลัง สันนิษฐานว่าปรางค์แต่ละหลังใช้เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระนางอุมา เพราะเมื่อ พ.ศ. 2499 มีผู้ขุดพบรูปสลักของพระนางอุมาในปรางค์องค์หนึ่งที่พังลง วัดนี้เมื่อดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแล้วได้สร้างพระอุโบสถขึ้น โดยมิได้เปลี่ยนสภาพเดิมไปมากนัก จะเห็นได้ว่ารอบ ๆ วัด ยังมีกำแพงที่ก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบอยู่

หาดปึกเตียน
อยู่ในท้องที่ตำบลปึกเตียน ห่างจากหาดเจ้าสำราญไปทางใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร หรือสามารถเดินทางไปทางถนนเพชรเกษมถึงอำเภอท่ายางแล้วเลี้ยวซ้ายตรงสี่แยก คลองชลประทานสาย 2 ประมาณ 15 กิโลเมตร บริเวณหาดปึกเตียน มีหินเรียงกันคลื่นซัดชายหาดเป็นแนวยาว ในทะเลและบนฝั่งมีรูปปั้นพระอภัยมณี นางผีเสื้อสมุทร สุดสาครและม้านิลมังกร ศาลเจ้าแม่กวนอิมและเกาะเต่า นอกจากนั้นยังมีที่พัก ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึกอยู่เรียงราย 

วัดพระนอน

ตั้งอยู่เชิงเขาวังด้านทิศใต้ ถนนคีรีรัฐยา ไม่ไกลจากศาลหลักเมือง เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่มีลักษณะงดงามและมีขนาดใหญ่ สร้างด้วยอิฐตลอดทั้งองค์และลงรักปิดทอง ฝีมือช่างสมัยอยุธยา 


วัดเขาบันไดอิฐ
ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวง 3171 ห่างจากเขาวังประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นเขาขนาดย่อมมียอดสูง 121 เมตร วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียง สมเด็จพระเจ้าเสือเคยเสด็จมาฝากตัวเป็นศิษย์ของวัดนี้ ในอดีตวัดเขาบันไดอิฐมีชื่อเสียงมากทางวิทยาคมในช่วงที่หลวงพ่อแดง พระเกจิชื่อดังของจังหวัดเพชรบุรีเป็นเจ้าอาวาส ทำให้มีผู้ให้ความเคารพและเดินทางมาสักการะเป็นจำนวนมาก วัดนี้เป็นวัดที่มีชื่อเสียงทางด้านความงามของศิลปะปูนปั้นชั้นครูที่ฝากผล งานไว้เหนือหน้าบันพระอุโบสถ นอกจากนั้นบริเวณวัด ยังมีถ้ำให้ชมอีกหลายแห่ง ถ้ำแรก คือ “ถ้ำประทุน” มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ตามผนังถ้ำทั้งสองด้าน ลึกเข้าไปจะเป็นถ้ำ “พระเจ้าเสือ” ที่ชื่อเช่นนี้เพราะมีเรื่องเล่ากันมาว่า พระเจ้าเสือได้เสด็จมาหาอาจารย์แสง และได้ถวายพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรประดิษฐานไว้ในถ้ำแห่งนี้ ถัดจากถ้ำนี้เข้าไปทางด้านใต้จะมีถ้ำพระพุทธไสยาสน์ จะมีพระนอนองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ และตรงซอกผนังถ้ำมีประทุนเรือทำด้วยไม้เก่าแก่มาก เป็นประทุนเรือที่พระเจ้าเสือถวายอาจารย์แสง นอกจากถ้ำทั้งสามนี้แล้ว ยังมีถ้ำอื่น ๆ เช่น ถ้ำพระอาทิตย์ ถ้ำพระจันทร์ ถ้ำสว่างอารมณ์ ถ้ำช้างเผือก และถ้ำดุ๊คซึ่งมีชื่อตามดุ๊คโยฮันฮัลเบิร์ต ผู้สำเร็จราชการเมืองปอร์นสวิค (Braunschweig) ประเทศเยอรมัน ผู้เคยมาเยือนเพชรบุรีและมาเที่ยวถ้ำแห่งนี้

วัดใหญ่สุวรรณาราม

อยู่ที่ถนนพงษ์สุริยา ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร วัดนี้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้มีการบูรณะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในวัดมีศาลาการเปรียญ เป็นพระตำหนักไม้สักทั้งหลังที่พระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา พระราชทานแด่พระสังฆราชชาวเพชรบุรี ศาลาการเปรียญนี้มีการแกะสลักไม้ที่สวยงาม โดยเฉพาะบานประตูสลักลายก้านขดปิดทอง และยังมีธรรมาสน์เทศน์ ซึ่งแกะสลักลงรักปิดทอง รูปทรงเป็นบุษบกที่งดงามและสมบูรณ์ บนผนังภายในพระอุโบสถ มีภาพเขียนเทพชุมนุม อายุกว่า 300 ปี สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าชมศิลปกรรมในพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ ต้องไปติดต่อขอกุญแจที่เจ้าอาวาส 


ถ้ำเขาหลวง

อยู่บนเขาหลวง ห่างจากเขาวังประมาณ 5 กิโลเมตร จากเชิงเขามีบันไดคอนกรีตนำสู่ทางลงถ้ำ เขาหลวงเป็นภูเขาขนาดเล็กมีความสูง 92 เมตร มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ภายในมีปล่องที่แสงอาทิตย์สามารถส่องเข้ามาภายในถ้ำได้ทำให้สวยงามยิ่งขึ้น ถ้ำเขาหลวงถือเป็นถ้ำใหญ่และสำคัญที่สุดในเมืองเพชร ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์อันสำคัญยิ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยเสด็จประพาสมาและทรงโปรดถ้ำแห่งนี้มาก ทั้งยังทรงบูรณะพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณภายในถ้ำนี้หลายองค์ด้วย กัน และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบันไดหินลงไปในถ้ำ

ตรงทางเข้าเชิงเขาหลวงด้านขวามือมีวัดใหญ่อยู่วัดหนึ่ง ชาวเมืองเรียกว่า วัดถ้ำแกลบ ปัจจุบันชื่อ “วัดบุญทวี” ซึ่งเป็นวัดใหญ่ น่าชมมาก เพราะท่านเจ้าอาวาสวัดนี้เป็นช่าง ได้ออกแบบและสร้างศาลาการเปรียญที่ใหญ่โต ประตูโบสถ์เป็นไม้สลักลายสวยงามมาก วัดถ้ำแกลบนี้มีตำนานเล่าว่า ปากถ้ำแกลบที่วัดนี้คือ ทางเข้าสู่เมืองลับแลอันเป็นเมืองที่มีแต่หญิงสาวทั้งนั้น แต่ก็เป็นเพียงตำนานของชาวเมืองเพชรนับร้อยปีมาแล้ว


วัดเขาตะเครา

ตั้งอยู่ตำบลบางครก จากตัวเมืองเพชรบุรี ข้ามทางรถไฟ บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟเพชรบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 3176 ระยะทาง 10 กิโลเมตร จะเห็นซุ้มประตูทางเข้าวัดขนาดใหญ่อยู่ทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว มีประวัติว่าหลวงพ่อเขาตะเครา เป็นพระพี่พระน้อง 3 องค์กับหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา หลวงพ่อบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม บางตำราว่าเป็นพี่น้องกันถึง 5 องค์ คือ หลวงพ่อบางพลีใหญ่ และหลวงพ่อวัดไร่ขิงที่นครปฐมด้วย ประวัติของพระพุทธรูปองค์นี้เริ่มปลายสมัยอยุธยา ขณะที่ชาวบ้านแหลมเมืองเพชรหนีพม่าไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ปากน้ำแม่กลอง ซึ่งได้กลายเป็นบรรพบุรุษของชาวสมุทรสงครามในทุกวันนี้ วันหนึ่งชาวประมงบ้านแหลมไปตีอวนที่ปากอ่าว ได้พระพุทธรูปขึ้นมา 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระยืนปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระปางมารวิชัย ชาวบ้านแหลมนำพระยืนไปประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม ปัจจุบันนี้คือ วัดเพชรสมุทรวิหาร กลางเมืองสมุทรสงคราม ส่วนอีกองค์มอบให้ญาติชาวบางตะบูนนำมาประดิษฐานที่ วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 


วัดเนรัญชราราม

ตั้งอยู่ริมทะเลบริเวณด้านทิศเหนือของหาดชะอำ ชื่อวัด เนรัญชราราม ได้รับการตั้งให้สอดคล้องกับชื่อวังมฤคทายวันซึ่งสร้างโดยรัชกาลที่ 6  ตามเรื่องราวในพุทธประวัติเกี่ยวกับแม่น้ำเนรัญชราและป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
สิ่งสำคัญที่น่าสนใจในวัดได้แก่ พระอุโบสถลักษณะทรงอินเดีย ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นในประเทศไทย เป็นพระอุโบสถที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2377  พระประธานในพระอุโบสถ คือ หลวงพ่อทอง สร้างเมื่อปี 2478 เป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์
บริเวณลานกลางแจ้งมี พระพุทธรูปปิดทวารทั้ง 9 ที่ไม่เหมือนที่ใดในประเทศไทย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2527 เพื่อให้ประชาชนที่มาเที่ยวชะอำได้มีสิ่งสักการะ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นสีขาว นั่งปิดทวารทั้ง 9  คือ ตาสอง จมูกสอง หูสอง ปากหนึ่ง ทวารหนัก ทวารเบา รวมเป็น 9 เป็นปริศนาธรรมซึ่งหมายความถึงการตัดกิเลสโดยวิธีปิดช่องทางการเข้าและออก ของกิเลสหรือสิ่งไม่ดีงามทั้งหลาย
นอกจากนี้ยังมีศาลาจตุรมุขประดิษฐานรอยพระพุทธบาททองเหลือง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2491 และรูปหล่อพระครูสุนทรวิโรจน์ (สงวน ชาคโร) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้เป็นระยะเวลานานถึง 52 ปี และได้สร้างความเจริญให้แก่วัดและท้องถิ่นเป็นอันมาก


แหลมผักเบี้ย

เป็นแหลมเล็กๆ ยื่นลงไปในอ่าวทะเลไทย เป็นจุดที่เรียกว่า ทรายเม็ดแรกของทะเลอ่าวไทย เนื่องจากที่บริเวณปลายแหลมระยะทางยาวกว่า 2 กิโลเมตร เป็นจุดเริ่มต้นของหาดทรายริมฝั่งทะเลอ่าวไทย เพราะทะเลตั้งแต่กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม มาจนถึงเพชรบุรีจะเป็นทะเลโคลนทั้งหมด บริเวณแหลมผักเบี้ยเหมาะแก่การดูนกชายทะเล มีนกมากมายหลายชนิด อาทิ นกนางนวลแกลบธรรมดา นกตีนเทียน นกกระติ๊ดขี้หมู นกกาน้ำ ฯลฯ นอกจากเดินทางเข้าถึงได้โดยทางรถยนต์แล้ว ก็สามารถเดินทางได้โดยทางเรือเช่นกัน  ผู้ที่สนใจจะล่องเรือมาที่ปลายหาดที่เป็นที่ตั้งของทรายเม็ดแรก ก็สามารถลงเรือล่อง ตามคลองอีแอด ระยะทาง 5 กิโลเมตรจากท่าเทียบเรือแหลมผักเบี้ย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง จะได้เห็นชีวิตสองฝั่งคลอง การล่องเรือจากคลองอีแอดต้องตรวจสอบระดับน้ำก่อนการเดินทาง เพราะจะมีเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง ค่าเช่าเรือประมาณ 500 บาท ติดต่อเรือล่องเรือคลองอีแอดล่วงหน้า โทร. 08 7938 8363
การเดินทาง แหลมผักเบี้ยอยู่ระหว่างเส้นทางเลียบชายทะเลจากหาดเจ้าสำราญไปยังอำเภอบ้าน แหลม ระยะทางประมาณ  15  กิโลเมตร  ทางเข้าแหลมผักเบี้ยอยู่ข้างวัดสมุทรโคดม 


วัดต้นสน
ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านแหลม เป็นวัดสำคัญของชาวบ้านแหลม เป็นศูนย์รวมในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ของชุมชนบ้านแหลม  มีสิ่งสำคัญอันเป็นมิ่งขวัญของชาวบ้านแหลม คือหลวงพ่อสัมฤทธิ์  นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งแปลกกว่าที่อื่น เนื่องจากด้านหลังมีรูปปั้นหลวงพ่อทวดยืนเกือบชิดกัน บริเวณหน้าวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่น้ำเพชรบุรี มีสะพานคอนกรีตสูงทอดข้ามแม่น้ำ มีศาลาไทยริมน้ำสำหรับนั่งพักผ่อน มองเห็นทิวทัศน์สวยงามของหมู่บ้านชาวประมงมีเรือจอดอยู่เรียงรายและมีนก นางแอ่นมาทำรังอยู่ในวัดและโดยรอบ จึงมีการทำธุรกิจเก็บรังนก โดยการสร้างตึกสูงสำหรับให้นกนางแอ่นมาอาศัย

ศูนย์อนุรักษ์และศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน โรงเรียนบางตะบูนวิทยา

ตั้งอยู่ด้านหลังโรงเรียนบางตะบูนวิทยา ระหว่างทางไปอ่าวบางตะบูน  ป่าชายเลนบริเวณนี้ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีจึงค่อนข้างอุดมสมบูรณ์มาก  มีพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ ซึ่งทางโรงเรียนได้จัดทำสะพานไม้และสะพานคอนกรีตยาวประมาณ 150 เมตรเดินเข้าไปในป่าชายเลนซึ่งมีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น และมีสัตว์ที่อาศัยอยู่บนพื้นป่ามากมาย โดยเฉพาะ ปลาตีน ปูซึ่งจะดีดก้ามส่งเสียงดังไปทั่วอยู่ตลอดเวลา  นอกจากนี้ในฤดูฝนจะพบหิ่งห้อยแมลงที่เรืองแสงได้อีกด้วย ทางเดินศึกษาธรรมชาติจะอยู่ติดกับชายทะเลซึ่งสามารถเห็นวิถีชีวิตการทำประมง พื้นบ้าน  ผู้สนใจท่องเที่ยวศึกษาป่าชายเลนบริเวณนี้สามารถติดต่อได้ที่ โรงเรียนบางตะบูนวิทยา โทร. 0-3248-9174   โดยมีมัคคุเทศก์น้อยซึ่งเป็นเยาวชนในท้องถิ่นเป็นผู้นำชมให้ความรู้ 


พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เป็นรูปหล่อสมเด็จพระนเรศวรทรงถือพระแสงดาบหันพระพักตร์สู่ทะเล ตั้งอยู่ริมทะเลด้านทิศเหนือของหาดชะอำ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการที่พระองค์เสด็จประพาสหัวเมืองตอนใต้และทรง เคยประทับแรมที่ชายหาดชะอำแห่งนี้

 


วัดในกลาง

เป็นวัดเก่าแก่มีอายุไม่น้อยกว่า 250 ปี เป็นวัดที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระมารดาซึ่งเป็นคนบ้านแหลม
เจดีย์ อุโบสถแบบมหาอุด  กุฏิ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ในวัดล้วนเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย วัดนี้เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อสุโขทัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านตำบลบ้านแหลมและประชาชนทั่วไป
สถาปัตยกรรมเด่นของวัดในกลางคือ ศาลาการเปรียญ ซึ่งทำด้วยไม้สักทั้งหลัง ได้รับการบูรณะโดยถอดชิ้นส่วนเดิมมาซ่อมแซมแล้วประกอบขึ้นมาใหม่ตามแบบเดิม สันนิษฐานว่า แต่เดิมเป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯให้รื้อถอนจากอยุธยามาปลูกสร้างที่วัดในกลาง  การก่อสร้างแบบโบราณใช้ลูกสลักเป็นเดือยในการยึดไม้ บางส่วนใช้ตะปูจีน  เสาของศาลาการเปรียญมี 8 เหลี่ยม มีคันทวยแกะสลักสวยงามเป็นรูปหัวนาคครองรับชายคา ซึ่งคันทวยหัวนาคของศาลาการเปรียญวัดในกลางนั้น เป็นที่ยอมรับกันว่า มีรูปแบบและลวดลายการแกะสลักที่อ่อนช้อย งดงามและวิจิตรบรรจงมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง วัดต่าง ๆ ที่จะบูรณะหรือสร้างศาสนสถานใหม่มักจะนำรูปแบบของคันทวยของศาลาการเปรียญวัด ในกลางไปเป็นแม่แบบเสมอ


อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

เป็นอุทยานที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีพื้นที่ถึง 2,915 ตารางกิโลเมตร หรือ 1.8 ล้านไร่ ในเขตอำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ยังคงสภาพเป็นป่าดงดิบตามธรรมชาติที่สมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากแห่งหนึ่ง ได้รับการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2524 โดยกำหนดพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำและป่าเหนือเขื่อนแก่งกระจานเป็นเขต อุทยานฯ เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสาย พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานฯ เป็นภูเขาสลับซับซ้อนอยู่ในเทือกเขาตะนาวศรี สภาพภูมิประเทศเป็นป่าดิบชื้น ยอดเขาที่สูงที่สุดในอุทยานฯ คือยอดเขางะงันนิกยวงตอง อยู่ในเขตรอยต่อประเทศพม่าและไทย มีความสูง 1,513 เมตร รองลงมาคือยอดเขาพะเนินทุ่ง ซึ่งมีความสูง 1,207 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากสันเขื่อนแก่งกระจาน มีถนนเลียบออกมาทางซ้ายมือเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ 


สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 6 บางขุนไทร

ป่าชายเลนของจังหวัดเพชรบุรีกระจายอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลเป็นระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร และขึ้นอยู่ตามปากแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำบางตะบูน และคลองต่าง ๆ ที่น้ำทะเลท่วมถึง  พื้นที่ป่าชายเลน 80 เปอร์เซ็นต์อยู่ในเขตอำเภอบ้านแหลม มีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ มากมายหลายชนิด ส่วนที่ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่มีประมาณ 15,000 ไร่ ส่วนที่เหลือมีการยึดครองทำประโยชน์เป็นบ่อเลี้ยงปลา นากุ้ง และนาเกลือ
สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 6 (เพชรบุรี) เป็นหน่วยงานหนึ่ง ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่หน้าวัดบางขุนไทร  มีหน้าที่ในการจัดการทรัพยากรป่าชายเลน เพื่อการสงวน อนุรักษ์ และฟื้นฟู โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและปกป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าชายเลนใน พื้นที่จังหวัดเพชรบุรีกว่า 35,000 ไร่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปให้มีจิตสำนึกในการปก ป้องดูแลรักษาไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงอยู่และ อำนวยประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน


น้ำพุร้อนหนองหญ้าปล้อง

ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำพุร้อน ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ อำเภอหนองหญ้าปล้อง  หากเดินทางจากกรุงเทพฯ ใช้ถนนเพชรเกษม เลยอำเภอเขาย้อยมาประมาณ 12 กิโลเมตร บริเวณกม. 148-149 มีทางแยกขวาไปน้ำพุร้อนหนองหญ้าปล้องอีกราว 34 กิโลเมตร  ถนนลาดยางตลอดสาย ระหว่างทางมีทิวทัศน์เป็นทุ่งนา และทิวเขาสลับซับซ้อนสวยงาม และหมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำพุร้อนหนองหญ้าปล้องเป็นบ่อน้ำร้อนกลางป่าร่มรื่น พื้นที่บริเวณได้รับพัฒนาดูแลโดยชุมชน มีบ่อน้ำร้อน ซึ่งต่อท่อมาจากแหล่งกำเนิดซึ่งอยู่ห่างออกไป 400 เมตรซึ่งสามารถเดินเท้าไปชมได้สะดวก น้ำในบ่อมีอุณหภูมิประมาณ 49 องศาเซลเซียส สิ่งอำนวยความสะดวก มีโรงนวดเพื่อสุขภาพ ห้องอาบน้ำแร่แบ่งชายหญิง ร้านอาหาร และสามารถกางเต็นท์พักแรมในบริเวณได้  นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงได้แก่ น้ำตกแม่กระดังลา ซึ่งการเดินทางเข้าน้ำตกต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อไปอีก 8 กิโลเมตร และเดินเท้าอีก 1 กิโลเมตร
"  


วนอุทยานเขานางพันธุรัต

ตั้งอยู่ที่บ้านเขาไม้นวล หมู่ 2 ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,562 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้อนุรักษ์พื้นที่บริเวณเขานางพันธุรัตไว้เป็นมรดกของชาติ ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาตำนานที่ได้เล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับนางพันธุรัตใน วรรณคดีไทยเรื่องสังข์ทอง



ศูนย์เรียนรู้โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง
ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาใหญ่  จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนที่สนใจศึกษาดูงานโครงการ ตามพระราชดำริ เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาอาชีพ โดยจัดทำเป็นศูนย์นิทรรศการในอาคารคุ้มเกล้า จัดแสดงเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ภาพถ่ายในอดีต และการจำลองแบบบ้านหลังแรกของเกษตรกรที่ได้อพยพเข้ามาอยู่ที่หุบกระพง  เครื่องจักรการเกษตร และกังหันน้ำชัยพัฒนาและยังสามารถเยี่ยมชมแปลงสาธิตของชาวบ้านหุบกระพง  ซึ่งเป็นหมู่บ้านสหกรณ์ตัวอย่างแห่งแรก  มีทั้งการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์ การเลี้ยงโคนม เป็นต้น  เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 08.30 -16.30 น.  สำหรับหมู่คณะที่ต้องการเยี่ยมชมโครงการกรุณาทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า โทร. 0 3247 1543, 0 3247 1100
การเดินทาง ประมาณ 4 กิโลเมตร ตามเส้นทาง 3203 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 201-202 จะมีทางแยกขวามือเป็นทางลาดยาวเข้าไปอีก 6 กิโลเมตร

อุทยานศาสนาพระโพธิสัตว์กวนอิม
ตั้งอยู่ที่ตำบลพุสวรรค์ มีพื้นที่ประมาณ 180 ไร่ ภายในบริเวณแบ่งออกเป็น แดนมหายานเต๋า แดนพุทธเกษตร มีพระพุทธรูป รูปปั้นเทพต่างๆ ในศาสนาฮินดู-พราหมณ์ รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ที่น่าสนใจ คือ รูปปั้นพระแม่กวนอิมปางพันเนตรพันกร แกะสลักจากไม้การบูรหอมจากประเทศจีน องค์สูงใหญ่ที่สุดในโลก สามารถเดินเที่ยวชมจุดที่น่าสนใจค่าง ๆ ในบริเวณได้ต่อเนื่องกัน หรือใช้บริการรถพ่วง 30 บาทต่อคน  เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 18.00 น.
การเดินทางจากถนนเพชรเกษม บริเวณอำเภอท่ายางแยกเข้ามาตามเส้นทางเลียบคลองชลประทานถึงเขื่อนเพชร มีทางแยกขวาไปอุทยานพระโพธิสัตว์กวนอิมอีก 12 กิโลเมตร หรือจากถนนเพชรเกษมจะแยกเข้าทางอำเภอบ้านลาดก็ได้ เป็นระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร  สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3242 2048-9

เขื่อนแก่งกระจาน

เป็นเขื่อนดินกั้นแม่น้ำเพชรบุรี สันเขื่อนยาว 760 เมตร กว้าง 8 เมตร สูง 58 เมตร ฐานตอนที่กว้างที่สุด 250 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2509 เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ

การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี 53 กิโลเมตร และห่างจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 3 กิโลเมตร เดินทางตามเส้นทางเดียวกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 


วัดถ้ำเขาย้อย

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาย้อย ใกล้ที่ว่าการอำเภอเขาย้อย ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 อยู่ก่อนถึงตัวเมืองเพชรบุรีประมาณ 22 กิโลเมตร ภายในถ้ำนี้มีพระพุทธรูปใหญ่น้อยหลายปางประดิษฐานอยู่ คล้ายกับถ้ำเขาหลวงและวัดถ้ำเขาบันไดอิฐที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองเพชรบุรี ตามประวัติเล่าว่าพระพุทธรูปเหล่านี้มีมานานแล้ว ต่อมาพระครูอ่อนวัดท้ายตลาดมาบูรณะใหม่ และมีเกร็ดประวัติศาสตร์เล่ากันว่าสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้า อยู่หัวยังทรงผนวชอยู่นั้น พระองค์ได้เสด็จธุดงค์มาปักกลดวิปัสสนาที่หน้าเขาย้อย แล้วทรงย้ายขึ้นมาประทับนั่งกรรมฐานอยู่ในถ้ำเขาย้อยหลายคืน 


ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง
ตั้งอยู่หมู่ 5 ตำบลเขาย้อย เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 4 เลยจากแยกอำเภอเขาย้อย มาทางตัวเมืองเพชรบุรีประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตรงทางเข้าโรงเรียนบ้านวัง เข้าไปประมาณ 150 เมตร ไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง เป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองเดียนเบียนฟู ในเวียดนามเหนือ มีความรู้ความชำนาญในการทอผ้าและจักสาน นิยมแต่งกายด้วยสีดำ มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ชาวลาวโซ่งส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี
ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ เป็นที่เก็บรวบรวมภาพชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตของชาวลาวโซ่งให้คนรุ่นหลังได้ ศึกษา ภายในศูนย์ฯ มีการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน บ้านจำลอง อักษรดั้งเดิม สาธิตการทอผ้า และขายสินค้าของที่ระลึก เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ  เปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. และในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีจะมีงานประเพณีไทยทรงดำซึ่งถือเป็นงานรื่นเริง สังสรรค์ของชาวลาวโซ่ง โดยจะหมุนเวียนกันจัดไปตามหมู่บ้านต่างๆ
นอกจากนั้นหากนักท่องเที่ยวมาเป็นหมู่คณะและต้องการจะชมการแสดงรำพื้นบ้าน เช่น  การอิ้นกอนฟ้อนแคน การเล่นลูกช่วงเพื่อการหาคู่ของหนุ่มสาว  สามารถติดต่อล่วงหน้าโดยมีค่าใช้จ่าย และภายในบริเวณศูนย์วัฒนธรรมฯ มีบริการบ้านพักลักษณะบ้านไทยทรงดำ  สอบถามเพิ่มเติมที่ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ เทศบาลเขาย้อย โทร.0 3256 1200  หรือหากต้องการจะสัมผัสวิถีชีวิตชาวลาวโซ่งโดยพักกับชาวลาวโซ่ง  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณวิวรรณธนี  สาตร์พันธุ์ โทร. 0 3256 2153, 08 1434 4997
การเดินทางโดยรถประจำทาง ใช้บริการรถโดยสารเส้นทางกรุงเทพฯ-เพชรบุรี หรือกรุงเทพฯ-ประจวบคีรีขันธ์  ลงที่สี่แยกเขาย้อย จากนั้นต่อรถมอเตอร์ไซด์ไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ค่าบริการมอเตอร์ไซค์ประมาณ 20 บาท

วัดกุฏิ

ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเค็ม ตามทางหลวงหมายเลข 4 ก่อนถึงทางเข้าที่ว่าการอำเภอเขาย้อย 6 กิโลเมตร (หากมาจากกรุงเทพฯอยู่ด้านซ้ายมือ) เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดเพชรบุรี พระอุโบสถสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง รอบพระอุโบสถด้านนอกสลักเป็นเรื่องทศชาติ มหาชาติ และไซอิ๋ว หน้าบันโบสถ์ทิศตะวันออก แกะสลักเป็นเหรียญตรามงกุฎ สมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนด้านหลังทางทิศตะวันตก แกะสลักเป็นรูปเหรียญกษาปณ์ ราคา 1 บาท พร้อมตราแผ่นดินรัชกาลที่ 5 บานประตูเป็นลายเถาทะลุโปร่ง แกะสลักลายลึก ฝีมือประณีตด้วยฝีมือช่างชั้นครู


อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร

ตั้งอยู่ภายในบริเวณค่ายพระรามหก ถนนเพชรเกษม ระหว่างชะอำและหัวหิน ทางเข้าทางเดียวกับพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน  อุทยานแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 48 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2548 และเพื่อเป็นการฟื้นฟูพัฒนาสิ่งแวดล้อมป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ และที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิดในบริเวณนี้ให้กลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดัง เดิม ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศภายในอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิริน ธร เพื่อกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกของประชาชนให้เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อม 


วัดมหาธาตุวรวิหาร

ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชร ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 500 เมตร ภายในวัดมีพระปรางค์ห้ายอด สร้างตามศิลปะขอม ปรางค์แต่ละองค์สร้างด้วยศิลาแลง ปรางค์องค์ใหญ่สูง 42 เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ภาพปูนปั้นที่ประดับอยู่ตามพระอุโบสถวิหารหลวง รวมถึงศาลาภายในวัดล้วนเป็นฝีมือช่างเมืองเพชร ซึ่งงดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนั้นในวิหารยังบรรจุพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเพชรบุรีนับถือมาก คือ รูปหลวงพ่อวัดมหาธาตุ รูปหลวงพ่อบ้านแหลม และรูปหลวงพ่อวัดเขาตะเครา


บางขุนไทร 


ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี ตามทางหลวงหมายเลข 3178 เป็นระยะทาง 12 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ติดริมทะเล ชาวบ้านมีอาชีพจับหอยแครง หอยเสียบ และหอยลาย โดยใช้กระดานถีบเลื่อนไปบนผิวเลนในช่วงน้ำลง และนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากจะนั่งเรือชมการเก็บหอย หรืออยากจะเก็บหอยด้วยตนเอง ด้วยวิธีนั่งแพ (แพ 1 ลำ นั่งได้ 3 คน และการจะออกไปเก็บหอยต้องดูเวลาน้ำขึ้นน้ำลง) สามารถติดต่อได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบล บางขุนไทร โทร. 0 3250 1254 


ล่องเรือชมวิถีชีวิตบ้านบางตะบูน

บ้านบางตะบูนอยู่ทางตอนเหนือของอำเภอบ้านแหลม เป็นหมู่บ้านชาวประมงริมปากอ่าว นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือหางยาวของชาวบ้านที่บริเวณหน้าวัดปากอ่าวเพื่อ ชมวิถีชีวิตการทำประมงพื้นบ้าน การถีบกระดานเก็บหอยแครง การทำฟาร์มหอยแมลงภู่ เตาเผาถ่านไม้โกงกาง และบ้านเรือนริมน้ำ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง สอบถามได้ที่เทศบาลตำบลบางตะบูน โทร. 0 3248 9234 นอกจากนี้ที่บ้านแสมชาย ซึ่งไม่ไกลจากวัดเขาตะเคราสามารถนั่งเรือพายชมหิ่งห้อยตอนพลบค่ำซึ่งมีมากใน ช่วงฤดูฝน ติดต่อเรือได้ที่ลุงจั่น โทร. 0 3240 9326 


สถานีเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทราย
ตั้งอยู่บนถนนจอมพล ตำบลสามพระยา ห่างจากอำเภอชะอำ 14 กิโลเมตร อยู่บริเวณหลักกิโลมตรที่ 220 เลี้ยวขวาไปทางเดียวกับวิทยาลัยเกษตรกรรมเพชรบุรี เข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นสถานีเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าหลายชนิด ภายในสถานีฯ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ และมีสัตว์ป่านานาชนิด เช่น เม่น หมี ละอง ละมั่ง กวาง เนื้อทราย นกยูง  ไก่ฟ้าหลังขาว เป็นต้น เปิดให้เข้าชมฟรีในวันเวลาทำการ เวลา 08.00-16.30 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3259 3252 -3

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ศูนย์ศีกษาการพัฒนาฯ ตั้งอยู่ที่อำเภอชะอำ  มีพี้นที่ประมาณ 8,700 ไร่ ตั้งขึ้นตามโครงการพระราชดำริ เพื่อพัฒนาด้านป่าให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติและพลิกฟื้นป่าให้กลับคืนมา เนื่องจากในอดึตมีสภาพเป็นป่าโปร่งและมีการตัดไม้และปลูกพีชไร่ ทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ดินขาดการบำรุงและเป็นดินดาน และเกิดการพังทลายของผิ้วดินค่อนข้างสูง ซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จึงดำเนินการปลูกป่าโดยให้ราษฏรที่ทำกินอยู่เดิมได้มีส่วนร่วมในการดูแล รักษาป่า เช่น การปลูกป่าทั้งไม้โตเร็ว ไม้ผล และไม้เศรษฐกิจ พร้อมกับการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ด้านการเกษตรแบบผสมผสาน การเกษตรในระบบวนเกษตรหรือเกษตรธรรมชาติ และศึกษาป้องกันไฟป่า และขยายพันธุ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะเนื้อทราย สอบถามเพิ่มเติม โทร. 032 471 110, 032 471 410

 

 
 
 
 
 
แนะนำสถานทีท่องเที่ยว กราบไหว้พระเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต และครอบครัว หรือคนที่เรารัก และยังได้ท่องเที่ยวอีกต่างหาก ซึ่งใช้เวลาภายในวันเดียว ก็สามารถท่องเที่ยวได้ ....
1
วัดเขาบันไดอิฐ
2
วัดใหญ่สุวรรณาราม
3
วัดถ้ำเขาย้อย
4
ถ้ำเขาหลวง
5
วัดเขาตะเครา
6
วัดเนรัญชราราม
7
วัดกำแพงแลง
8
วัดต้นสน
9
วัดพระนอน