WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

ชุมชนบางพลีใหญ่

รู้จักชุมชน
คำว่า “บางพลี” มีอยู่ 2 แห่งในเมืองไทย คือ ตำบลบางพลี อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนชื่อตำบลก็มีอยู่ 2 แห่ง คือ ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อและตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีผู้ให้ข้อมูลประวัติอำเภอบางพลีเป็น 3 ประเด็น

1. กำเนิดของคำว่า บางพลี เพี้ยนมาจากคำว่า บัตรพลี คือ เครื่องสังเวย เมื่อ พ.ศ. 2041 สมัยอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2034-2072) ได้โปรดเกล้าให้ขุดลอกคลองสำโรงพบเทวรูปสำริด 2 องค์ ที่คลองทับนาง มีจารึกชื่อว่า “พญาแสนตา” และ “พระบาทสังฆังกร” ไม่มีพิธีทำบัตรพลีบวงสรวงสังเวยเทวรูป จึงเรียกตำบลนั้นว่าที่บัตรพลี นานๆ เลยเรียกเพี้ยนเป็น บางพลี ส่วนเทวรูป 2 องค์ ได้นำมาไว้ที่ศาลเจ้าเมืองพระประแดง ต่อมาอีก 77 ปี ถึง พ.ศ. 2118 สมัยกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอเมื่อเป็นเมืองขึ้นพม่า พระยาละแวกเจ้าเมื่อเขมรได้โอกาส จึงมากวาดต้อนชาวพระประแดงไปไว้เมืองเขมร ได้นำเทวรูปเอาไปด้วย จึงอยู่ที่เมืองเขมรจนกระทั่งบัดนี้ (ผู้ให้ข้อมูลพลตรีถวิล อยู่เย็น)
2.มีประวัติเล่าสืบกันมาว่า พระนเรศวรมหาราชยกกองทัพขับไล่ข้าศึกมาทางทิศตะวันออกของกรุงศรีอยุธยา มาถึงตำบลหนึ่งไม่ทราบปรากฏนาม พระองค์สั่งให้หยุดพักไพร่พล และได้ทรงทำพิธีกรรมบวงสรวงหาฤกษ์ยามอันเป็นมิตรตามตำราพิชัยสงคราม ก่อนยกทัพขับไล่อริราชศัตรู สถานที่ทำพิธีบัตรพลี ต่อมาเพี้ยนเป็นบางพลี
3.พระนเรศวรมหาราชพระองค์ได้กรอบกู้อิสรภาพให้ไทยกลับเป็นไทยต่อไป พระองค์ได้ทำสงครามขับเคี่ยวกับพม่าจนแตก ขยายอาณาเขต ได้กว้างขวางมาก และขับไล่พม่าทางทิศตะวันออกของกรุงศรีอยุธยา ขากลับพระองค์เสด็จกลับทางเรือผ่านมาทางบางพลี เรียกตำบลอะไรไม่ทราบชัด พระองค์ไม่หยุดพักไพล่พลขณะที่พักอยู่นั้น พระองค์ได้ประหารชีวิตทหารในบังคับบัญชาของท่านคนหนึ่ง ซึ่งทรยศต่อพระองค์หวังจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง แต่ก่อนที่พระองค์จะทำพิธีประหารได้ทำบัตรพลีปลูกศาลเพียงตา แล้วจึงได้ประหารผู้คิดทรยศคนนั้น สถานทำบัตรพลี ต่อมาเพี้ยนเป็นบางพลี พระองค์พร้อมด้วยไพล่พลของท่านได้พร้อมใจกันสร้างวัดหนึ่งในตำบลที่พระองค์พักนี้ แล้วขนานนามว่า วัดชัยชนะสงคราม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดบางพลีใหญ่ใน (ข้อมูล ข้อ 2 ข้อ 3 จากหนังสือประวัติหลวงพ่อโตและประเพณีรับบัววัดบางพลีใหญ่ใน)
สภาพพื้นที่ในอดีตเป็นที่ราบลุ่มและป่าชายเลน ยึดแนวคลองสำโรงเป็นหลัก ด้านเหนือคลองสำโรงเป็นที่ราบลุ่มเรียกว่า ฝั่งทุ่ง อาชีพทำนา ส่วนใต้คลองสำโรงเป็นป่าแสมเรียกฝั่งป่า อาชีพตัดฟืน สันนิษฐานในอดีตเป็นทะเลที่ตื้นเขิน มีหลักฐานแผนที่บางพลีในอดีต พ.ศ. 2457 ปรับปรุงแก้ไข 2492 ยังมีป่าแสม ป่าทึบ เมื่อมีการขุดเจาะพื้นดินแถวบางปูลึกประมาณ 1 เมตร จะพบซากหอยมากมาย ส่วนบางปลา ขุดดินลึกลงไปประมาณ 1 เมตรครึ่งถึง 2 เมตร จะพบซากหอยเช่นเดียวกัน ที่บางปลาตอนขุดพบเรือโบราณ คณะโบราณคดี ได้มาพิสูจน์เรือ พบซากหอยติดเรือ บางพลีอุดมสมบูรณ์มากในน้ำมีปลา ในนามีข้าว กุ้ง หอย ปู ปลา นกนาๆ ชนิด เช่น นกกระยาง นกกระสา นกอีลุ้ม นกน้ำอื่น ๆ จากสภาพพื้นดินเป็นที่ราบลุ่มและป่าแสม ต้นหญ้าสูง จึงมีงูชุกชุมและสัตว์ป่ามากมาย เช่น เนื้อสมั่น กวาง ช้าง เสือปลา เป็นต้น ถึงน้ำในคลองสำโรงจะเค็มประมาณ 6 เดือน (เดือน กรกฏาคม – ธันวาคม) พื้นที่บางปลาและแถบทุ่งช้างน้ำจะเค็มเพราะใกล้ทะเล สัตว์น้ำมีมาก เช่น ปูแสม ปูทะเล กุ้ง หอย เป็นต้น บางพลีส่วนที่ใกล้ทะเลมากที่สุดคือ บางปลา บางโฉลงต่อจากบางปลาเวลาน้ำเค็มขึ้นมาสูงทำให้ปลาน้ำจืดตายหมด เมื่อ พ.ศ. 2497 รัฐบาลได้สร้างถนนสุขุมวิท ทำให้กั้นน้ำเค็มไม่ให้เข้าสู่พื้นที่อำเภอบางพลี พื้นที่ ด้านเหนือถนนสุขุมวิท เป็นป่าแสม ถูกหักร้างถางพง ป่าไม้ไม่มี สัตว์ป่าไม่มีที่อยู่อาศัย สัตว์น้ำเค็มหมดไป พื้นที่ดินเปลี่ยนสภาพเป็นปัจจุบัน

ชวนเที่ยว
ตลาดโบราณบางพลี เป็นตลาดเก่าแก่ตลาดหนึ่ง ที่ยังคงสภาพเดิมอยู่ พื้นตลาดเป็นพื้นไม้ สามารถเดินติดต่อกันได้ยาวประมาณ 500 เมตร หลังคามุงกระเบื้องรูปว่าว ตั้งอยู่บนฝั่งเหนือของคลองสำโรง หมู่ 10 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ติดกับวัดบางพลีใหญ่ใน มีอายุประมาณ 150 ปี (สันนิษฐานจากประวัติศาสตร์ คนจีนมาตั้งถิ่นฐานที่บางพลี พ.ศ. 2400) เหตุผลที่เรียก ตลาดน้ำบางพลี สืบเนื่องจากเมื่อมีหมู่บ้านจัดสรรบางพลีนคร หมู่บ้านชลเทพ หมู่บ้านนิลุบล ประชาชนมาอยู่ใหม่ เห็นตลาดริมน้ำเลยเรียกว่า ตลาดน้ำบางพลี

ชวนช๊อป
ปลาสลิด
กระยาสารท
ขนมชั้น

ชวนมอง
ตลาดโบราณบางพลีถือเป็นชุมชนใหญ่ ชุมชนหนึ่ง และรุ่งเรืองมากในอดีต เป็นตลาดขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร จากภาคตะวันออก ชายฝั่งทะเลสู่กรุงเทพฯ

ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอบางพลี โรงเรียนบางพลีราษฎร์บำรุง เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ทางด้านวัฒนธรรมมีทั้งสาระ รูปแบบที่เป็นระบบความคิด วิธีการ โครงสร้างทางสังคม ตลอดจนที่มนุษย์สร้างขึ้นอันเป็นเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีของชาติ จากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ สามารถมองลึกเข้าไปในประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นวิถีความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อถือ และศาสนามุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถพัฒนาอยู่บนรากฐานวัฒนธรรมของตน โดยนำภูมิปัญญามาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างสมดุล

เส้นทางการท่องเที่ยวทางเรือคลองสำโรง ระยะทาง 4 กิโลเมตรใช้เวลา 30 นาทีราคาการท่องเที่ยวทางเรือ20 บาทต่อ 1 คน ทัศนียภาพที่จะผ่านคือตลาดน้ำโบราณบางพลีใหญ่ ที่ทำการเทศบาล อำเภอ วัดบางพลีใหญ่กลางหรือวัดพระนอน วัดหลวงพ่อโต

ชวนทำ

ขนมกระยาสารทในสมัยก่อนเป็นขนมทีทำขึ้นในช่วงทำบุญวันสารทไทย ช่วงเดือนตุลาคม เป็นการทำบุญอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และจะมีการตักบาตรด้วยกระยาสาทร มีความเชื่อว่า หากไม่ใส่บาตรด้วยกระยาสาทรผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็จะไม่ได้รับส่วนบุญกุศลที่ทำในวันนี้ เมื่อทำบุญกันเสร็จแล้วก็จะมีการแบ่งกระยามสาทรที่ทำ เป็นการแลกเปลี่ยนกันเหมือนกับอวดฝีมือของกระยาสาทรแต่ละบ้าน กระยาสาทรจะกินคู่กับกล้วยไข่ เคยได้ยินใช่ไหม เหตุผลก็เพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงทึ่กล้วยไข่ออกผลนั่นเอง และรสชาติของกล้วยไข่จะช่วยทอนรสหวานของกระยาสาทรได้ดี เสริมให้กินอร่อยหวานมันกำลังดี
ไทย
อาหารหวาน
ธัญพืช / กะทิ / อื่นๆ
เคี่ยว
ยาก
180 นาที
ส่วนผสมและสัดส่วน
1. ข้าวตอก 1 ½ กิโลกรัม
2. ถั่วลิสง 6 กิโลกรัม
3. งาขาวคั่ว 5 กิโลกรัม
4. ข้าวเม่า 12 กิโลกรัม
5. แบะแซ 8 กิโลกรัม
6. น้ำตาลปี๊บ 15 กิโลกรัม
7. กะทิ 12 กิโลกรัม

วิธีปรุง
1. นำถั่วลิสง งา ข้าวเม่า มาคั่วให้สุกพอประมาณ แล้วพักไว้
2. นำกะทิมาเคี่ยวกับน้ำตาลปี๊บ จนน้ำตาลละลาย จากนั้นใส่แบะแซลงไปผสม เคี่ยวให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน หรือจนเหนียวข้นเป็นยางมะตูม
3. ใส่ถั่วลิสง ข้าวตอก ข้าวเม่า งาขาวที่คั่วเตรียมไว้ลงไปผสมในน้ำกะทิ เคี่ยวไปเรื่อยๆ โดยใช้ไฟอ่อน ประมาณ 30 นาที
4. ตักใส่ถาดสี่เหลี่ยม พักไว้พออุ่น ตัดเป็นสี่เหลี่ยม พักไว้ให้เย็น

ชวนชิม
ร้านขนมชั้นแม่บุญศรีอยู่ที่ตลาดโบราณบางพลี ตลาดอยู่ใกล้กับวัดบางพลีใหญ่ สามารถจอดรถที่วัดไหว้หลวงพ่อโต แล้วเดินเล่นมาจนถึงตลาดได้เลย หรือจะจอดรถที่ BIG C บางพลี แล้วเดินไปหลังห้างเพื่อลงเรือข้ามไปตลาดก็ได้ ค่าข้าม 1 บาท ผู้สูงอายุ ไม่เหมาะจะใช้เส้นทางนี้ ตลาดเป็นทางเดินแค่เส้นเดียวเดินตรงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นร้านขนมชั้นหาไม่ยาก เดินจากท่าข้ามเรือไป ร้านจะอยู่ทางขวามือ มีห้องทำขนมอยู่ตรงบริเวณร้าน กับตู้ขนมเล็กๆหน้าร้าน แต่ขนมชั้นมักจะไม่มีวาง ส่วนมากสั่งไว้ล่วงหน้ากันทั้งนั้น ขนมชั้นถาดละ 40 บาท ขนมชั้นที่นี่นุ่น เนียน แต่ถ้าสั่งมาเป็นถาดแบบนี้จะกินยากหน่อย เพราะชั้นล่างสุดจะติดถาดและเละเทะเกินไป แต่ถ้าสั่งแบบจับเป็นดอกไม้ เนื้อขนมที่เนียน ละเอียด ทำให้กินง่ายกว่าเยอะ แช่เย็นได้ไม่แข็งด้วย
สั่งใบเตย อัญชัญ รสชาติ และกลิ่นไม่ต่างกัน

ชวนแวะ และ ชวนพัก
วัดบางพลีใหญ่ใน ตั้งอยู่หมู่ 10 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ วัดนี้อยู่ริมคลองสำโรง ห่างจากประตูน้ำสำโรงประมาณ 13 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 40 ไร่
การคมนาคมจากกรุงเทพฯ หรือจังหวัดต่างๆ มายังวัด สะดวกสบายด้วยทางรถยนต์ และทางเรือ ทางรถยนต์มาได้ 3 ทาง สายที่ 1 ถนนสายบางนา – ตราด ประมาณกิโลเมตรที่ 12 ข้ามสะพานคลองชวดลากข้าวมีทางเลี้ยวเข้าสู่อำเภอบางพลีทางด้านขวามือประมาณ 3-5 กิโลเมตรครึ่ง สายที่ 2 ถนนสาย บางนา-ตราด ประมาณ 14 ก.ม. เป็นถนนตรงเข้าวัดและ สายที่ 3 เข้าทาง ถนนสายเทพารักษ์ ก.ม. 14 ส่วนทางเรือปัจจุบันใช้เฉพาะเรือในท้องถิ่น ภายในวัดมีอาคารเสนาสนะต่างๆ ดังนี้ อุโบสถกว้าง 8.50 เมตร ยาว 23 เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเมื่อ พ.ศ. 2492 – พ.ศ. 2494 วิหาร กว้าง 8 เมตร ยาว 33 เมตร เป็นอาคารคอนกรีต สำหรับปูชนียสถานมีพระประธานในอุโบสถ นามว่า “หลวงพ่อโต” อาคารเรียนพระปริยัติธรรมคอนกรีต 2 ชั้น นอกจากนี้มีหอระฆัง หอไตร ฌาปนสถาน ปัจจุบันกำลังก่อสร้างวิหาร รอบพระอุโบสถ พระธาตุเจดีย์บรรจุสารีริกธาตุพระพุทธเจ้า
วัดบางพลีใหญ่ใน เดิมชื่อ “วัดพลับพลาไชยชนะสงคราม” ตามแผนที่เก่า พ.ศ. 2457 ใช้ชื่อ วัดชนะสงคราม ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงเรียกวัด นี้ว่า “วัดใหญ่” หรือ “วัดหลวงพ่อโต” ทางประวัติศาสตร์จากโบราณคดีจารึกสืบ ต่อกันแต่ครั้งโบราณกาลว่า วัดนี้สร้างขึ้นในสมัย สมเด็จ พระนเรศวรมหาราช หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา 2 ครั้ง มาในปี พ.ศ. 2112 และ พ.ศ. 2310

นายสำราญ ถือแก้ว
ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม
ติดต่อ : 089-792-5280

 
 

 


 
 
 
 
 
 
 

บ้านยายม่อม อ.แหลมงอบ

บ้านอ่าวใหญ่ เกาะกูด จ.ตราด

บ้านโขดทราย อ.คลองใหญ่