WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

วัดไชยวัฒนาราม
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง เป็นวัดที่พระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ที่ 24 (พ.ศ. 2173-2198) โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2173 ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่มีความงดงามมากแห่งหนึ่งในกรุงศรีอยุธยา  ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ วัดนี้เป็นที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์(เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลายกับเจ้าฟ้าสังวาลย์ซึ่งต้องพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระ ชนม์ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

วัดพนัญเชิงวรวิหาร
ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลคลองสวนพลู ริมแม่น้ำป่าสักทางทิศใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง ห่างจากตัวเมืองราว 5 กิโลเมตร หรือเมื่อออกจากวัดใหญ่ชัยมงคล ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปตามถนนประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะเห็นวัดพนัญเชิงอยู่ทางขวามือ วัดพนัญเชิงเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร แบบมหานิกาย เป็นวัดที่มีมาก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งซึ่งครองเมืองอโยธยาเป็นผู้สร้างขึ้นตรงที่พระราชทานเพลิง ศพพระนางสร้อยดอกหมาก และพระราชทานนามวัดว่า “วัดพระเจ้าพระนางเชิง”

วัดหน้าพระเมรุ
ตั้งอยู่ริมคลองสระบัวด้านทิศเหนือของคูเมือง (เดิมเป็นแม่น้ำลพบุรี)  ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พุทธศักราช 2046 มีชื่อเดิมว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” ที่ตั้งของวัดนี้เดิมคงเป็นสถานที่สำหรับสร้างพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพ ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งสมัยอยุธยาตอนต้นต่อมาจึงได้สร้าง วัดขึ้น มีตำนานเล่าว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างวัดนี้เมื่อ พ.ศ. 2046  วัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเมื่อครั้งทำศึกกับพระเจ้าบุเรงนองได้มีการทำสัญญาสงบ ศึกเมื่อ พ.ศ. 2106 ได้สร้างพลับพลาที่ประทับขึ้นระหว่างวัดหน้าพระเมรุกับวัดหัสดาวาส 

วัดใหญ่ชัยมงคล
เดิมชื่อวัดป่าแก้วหรือวัดเจ้าพระยาไทย ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วจะเห็นเจดีย์วัดสามปลื้ม (เจดีย์กลางถนน) ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นวัดใหญ่ชัยมงคลอยู่ทางซ้ายมือ วัดนี้ตามข้อมูลประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1900 สำหรับเป็นสำนักของพระสงฆ์ซึ่งไปบวชเรียนมาแต่สำนักพระวันรัต มหาเถรในประเทศลังกา คณะสงฆ์ที่ไปศึกษาพระธรรมวินัยเรียกนามนิกายในภาษาไทยว่า “คณะป่าแก้ว”

วัดพุทไธศวรรย์
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำทางด้านใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง หากเดินทางโดยรถยนต์ และใช้เส้นทางสายอยุธยา-เสนา ข้ามสะพานวัดกษัตราธิราชวรวิหาร แล้วเลี้ยวซ้าย จะผ่านวัดไชยวัฒนาราม มีป้ายบอกทางเป็นระยะไปจนถึงทางแยกซ้ายเข้าวัดพุทไธศวรรย์ วัดนี้สร้างขึ้นบริเวณตำหนักที่ประทับเดิมของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งเรียกว่า “ตำหนักเวียงเหล็กหรือเวียงเล็ก” หลังจากนั้นพระองค์ไปสร้างพระราชวังใหม่ที่ตำบลหนองโสน (บึงพระราม) จึงสถาปนาสถานที่นี้เป็นวัดพุทไธศวรรย์ ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ ปรางค์ประธาน องค์ใหญ่ศิลปะแบบขอม ตั้งอยู่กึ่งกลางอาณาเขตพุทธาวาสบนฐานไพที ซึ่งมีลักษณะย่อเหลี่ยมมีบันไดขึ้น 2 ทาง คือ ทางทิศตะวันออก และทางทิศตะวันตก ส่วนทิศเหนือทิศใต้มีมณฑปสองหลังภายในพระมณฑปมีพระประธาน พระตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ประจำอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตำหนักนี้อยู่ในสภาพค่อนข้างทรุดโทรมแต่ภายในผนังของตำหนัก มีภาพสีเกี่ยวกับเรื่องหมู่เทวดา นักพรต นมัสการพระพุทธบาท และเรือสำเภาตอนพระพุทธโฆษาจารย์ไปลังกา ภาพเหล่านี้อยู่ในสภาพไม่ชัดเจนนัก นอกจากนี้ยังมีพระอุโบสถอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของปรางค์ หมู่พระเจดีย์สิบสององค์ และวิหารพระนอน

วิหารพระมงคลบพิตร
ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปคุ้มขุนแผน วิหารพระมงคลบพิตรจะอยู่ถัดไปไม่ไกลนัก พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตร และสูง 12.45 เมตร นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นระหว่างปี พ.ศ. 1991–2145 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯให้ย้ายจากทิศตะวันออกนอกพระราชวังมาไว้ทาง ด้านทิศตะวันตกที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบันและโปรดเกล้าฯให้ก่อมณฑปสวมไว้ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ เมื่อปี พ.ศ. 2249 อสุนีบาตตกลงมาต้องยอดมณฑปพระมงคลบพิตรเกิดไฟไหม้ทำให้ส่วนบนขององค์พระมงคล บพิตรเสียหายจึงโปรดเกล้าฯให้ซ่อมแซมใหม่ แปลงหลังคายอดมณฑปเป็นมหาวิหารและต่อพระเศียรพระมงคลบพิตรในสมัยสมเด็จพระ เจ้าบรมโกศ (พ.ศ. 2285–2286) ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 วิหารพระมงคลบพิตรถูกข้าศึกเผาเครื่องบนโทรมลงมาต้องพระเมาฬีและพระกรขวาของ พระมงคลบพิตรหัก  รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้การปฏิสังขรณ์ใหม่ สำหรับบริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตรทางด้านทิศตะวันออกแต่เดิมเป็นสนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเช่นเดียว กับท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ  ค่าธรรมเนียมเข้าชาวไทย 20 บาท ต่างชาติ 50 บาท

วัดมหาธาตุ
ตั้งอยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ทางทิศตะวันออกของวัดพระศรีสรรเพชญ์ พงศาวดารบางฉบับกล่าวว่าวัดนี้สร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ต่อมาสมเด็จพระราเมศวรโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ ฐานพระปรางค์ประธานของวัดเมื่อ พ.ศ.1927 พระปรางค์วัดมหาธาตุถือเป็นปรางค์ที่สร้างในระยะแรกของสมัยอยุธยาซึ่งได้รับ อิทธิพลของปรางค์ขอมปนอยู่ ชั้นล่างก่อสร้างด้วยศิลาแลงแต่ที่เสริมใหม่ตอนบนเป็นอิฐถือปูน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์ใหม่โดยเสริมให้สูงกว่า เดิม แต่ขณะนี้ยอดพังลงมาเหลือเพียงชั้นมุขเท่านั้นเวลาเปิด-ปิด : เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น.อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 40 บาท ชาวต่างประเทศ 220 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดและพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้  ภายในระยะเวลา 30 วัน อันได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง  วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดมเหยงค์ วัดไชยวัฒนาราม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท   และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม   ชาวไทย 20 บาท 
ชาวต่างประเทศ 100 บาท 

หมายเหตุ :  ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30-21.00น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

วัดโลกยสุธา
อยู่ใกล้กับเจดีย์พระศรีสุริโยทัย ใช้เส้นทางถนนหลังพลับพลาตรีมุขในบริเวณพระราชวังโบราณผ่านวัดวรโพธิ์และวัด วรเชษฐารามเข้าไปจนถึงพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ซึ่งตั้งอยู่กลางแจ้ง พระพุทธ ไสยาสน์องค์นี้มีขนาดใหญ่ที่สุดของพระนครศรีอยุธยา ความเชื่อและวิธีการบูชา  ทุกวันนี้วัดโลกยสุธารามมักมีผู้เดินทางมาสักการะพระพุทธไสยาสน์อยู่เสมอ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ยังมีความเชื่อแพร่หลายในหมู่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาว่าการได้มานมัสการพระ พุทธไสยาสน์ วัดโลกยสุธารามซึ่งมีพระพักตร์ที่เปี่ยมด้วยเมตตาบารมี ถือเป็นดังนิมิตหมายอันดีที่ช่วยส่งเสริมสิริมงคลในชีวิต และให้คุณค่าด้านเมตตามหานิยมแก่ผู้นั้นด้วย

วัดกษัตราธิราชวรวิหาร
อยู่นอกเกาะเมืองตรงข้ามกับเจดีย์พระศรีสุริโยทัย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถใช้เส้นทางเดียวกับสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ไปจนถึงสี่แยกแล้วเลี้ยว ซ้ายข้ามสะพานวัดกษัตราธิราชฯ จากนั้นเลี้ยวขวาตรงไปไม่ไกลนักก็จะถึงวัดนี้  วัดนี้เดิมชื่อ “วัดกษัตรา” หรือ “วัดกษัตราราม” เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยามีพระปรางค์ใหญ่เป็นประธานหลักของวัด และยังมีพระอุโบสถสมัยอยุธยาซึ่งมีลายดาวเพดานจำหลักไม้งดงามมาก ภายในวัดมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นวัดที่มีความสวยงามมากวัดหนึ่ง

 

 
 
 
 
   

ไหว้พระ 9 วัด กรุงเทพ

ไหว้พระ 9 วัด อยุธยา

ไหว้พระ 9 วัด อ่างทอง

ไหว้พระ 9 วัด นนทบุรี

ไหว้พระ 9 วัด นครปฐม

ไหว้พระ 9 วัด สุพรรณบุรี

ไหว้พระ 9 วัด สิงห์บุรี

ไหว้พระ 9 วัด เพชรบุรี

ไหว้พระ 9 วัด น่าน

ไหว้พระ 9 วัด ลำปาง

ไหว้พระ 9 วัด ลำพูน

ไหว้พระ 9 วัด เชียงใหม่

ไหว้พระ 9 วัด แม่ฮ่องสอน