WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

 

อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว เดิมชื่อ อุทยานแห่งชาติคลองเพรา มีประวัติการจัดตั้งเริ่มจากเมื่อในปี พ.ศ. 2521 ป่าไม้เขตสุราษฎร์ธานี ได้มีหนังสือถึงกรมป่าไม้แจ้งว่า บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งระยะนาสัก ท้องที่อำเภอสวี จังหวัดชุมพร สภาพป่าและภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีไม้มีค่าเป็นจำนวนมาก เป็นป่าต้นน้ำลำธาร สัตว์ป่าชุกชุม ธรรมชาติสวยงามเหมาะแก่การจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวในลักษณะของอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งกองอนุรักษ์สัตว์ป่าได้สำรวจแล้วแจ้งว่า ป่าดังกล่าวไม่เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

น้ำตกหงาว นับได้ว่าเป็นน้ำตกคู่เมืองระนอง เพราะทุกคนที่เดินทางผ่านตัวเมืองระนองจะต้องเห็นสายน้ำสีขาวของน้ำตกหงาวที่ไหลตกลงมาจากหน้าผาสูง อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาวมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 417,500 ไร่ หรือ 668 ตารางกิโลเมตร อยู่ในอำเภอเมือง อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง และอำเภอพะโต๊ะ อำเภอทุ่งตะโก อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนทอดตัวยาวระหว่างสองจังหวัด มีสันเขานมสาวเป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัดระนองกับจังหวัดชุมพร

สำหรับน้ำตกหงาวนั้น เดิมคือ วนอุทยานน้ำตกหงาว อยู่ในท้องที่ตำบลหงาว อำเภอเมือง จังหวัดระนอง มีแนวเขตตามแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาน้ำตกหงาว มีเนื้อที่ประมาณ 2.93 ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดระนอง อยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้จังหวัดระนองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 จนถึงปี พ.ศ. 2524 จึงได้โอนไปขึ้นกับกองอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแหลมสนมาเป็นผู้ควบคุมดูแลวนอุทยานน้ำตกหงาวอีกหน้าที่หนึ่ง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ได้มีการผนวกวนอุทยานน้ำตกหงาวเข้าเป็นเขตอุทยานแห่งชาติคลองเพราและเปลี่ยนชื่อมาเป็น “อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว” เมื่อปี พ.ศ. 2537

ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาวได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แล้ว ประกอบด้วยพื้นที่ทั้งหมด 417,500 ไร่ โดยได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าป่าละอุ่น และป่าราชกรูดในท้องที่ตำบลบางแก้ว ตำบลละอุ่นใต้ ตำบลบางพระเหนือ ตำบลละอุ่นเหนือ อำเภอละอุ่น ตำบลบางริ้น ตำบลหาดส้มแป้น ตำบลหงาว ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ป่าทุ่งระยะ ป่านาสัก ป่าเขาตังอา ป่าคลองโชน ป่าพะโต๊ะ ป่าปังหวาน และป่าปากทรง ในท้องที่ตำบลเขาค่าย อำเภอสวี ตำบลช่องไม้แก้ว ตำบลตะโก อำเภอทุ่งตะโก ตำบลนาขา ตำบลวังตะกอ ตำบลหาดยาย อำเภอหลังสวน และตำบลปังหวาน ตำบลพระรักษ์ ตำบลพะโต๊ะ ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 44 ก วันที่ 2 มิถุนายน 2542 เป็นลำดับที่ 93 ของประเทศ

พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
ทรัพยากรธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว
สภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว เป็นป่าดิบชื้น มีต้นไม้ใหญ่ ไม้มีค่าและไม้พื้นล่างขึ้นอยู่หนาแน่นที่สำคัญ ได้แก่ พญาไม้ ตะเคียนทอง หลุมพอ จำปา ยาง ยูง บุนนาค ตะแบก อินทนิล มังตาล กระบาก ตาเสือ ตะเคียนทราย สมพง พิกุลป่า มะม่วงป่า ไข่เขียว ฯลฯ พืชพื้นล่างและพืชอิงอาศัยได้แก่ หวาย ระกำ ไผ่ เฟิน โกมาซุม และบัวผุด เป็นต้น
1.1 ป่าไม้และสัตว์ป่า
(1) ประเภทป่า สภาพป่าในอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาวเกือบทั้งหมดเป็นป่าดิบชื้น คิดเป็นร้อยละ 99.8 ของพื้นที่ทั้งหมด มีป่าหญ้าบริเวณยอดเขาน้ำตกหงาว และทิวเขาด้านทิศใต้ลงมา เป็นหย่อมๆ มีเนื้อที่รวมประมาณ 853ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.2 ของพื้นที่ทั้งหมด
(2) ลักษณะเด่นของพื้นที่ ลักษณะโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนน้อยมาก เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ เป็นจุดกำเนิดห้วย คลอง ที่สำคัญๆ ทั้งในเขตจังหวัดชุมพร และระนอง มีพื้นที่ Sensitive ต่อระบบนิเวศ หลายจุด เช่น น้ำตกหงาว น้ำตกคลองเพรา น้ำตกบางริ้น น้ำตกเหวม่วง น้ำตกเหวพร้าว ฯลฯ คลองตะโก คลองเพรา คลองปังหวาน คลองอา คลองอเนก คลองพระ คลองแย คลองทับขอน ในจังหวัดชุมพร คลองบางแก้ว คลองละอุ่น คลองระวิ คลองหาดส้มแป้น คลองบางริ้น คลองหงาว และคลองราชกรูด ในจังหวัดระนอง ป่าหญ้าและผาหินในอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาวแลทิวเขาด้านทิศใต้ลงมา
(3) พันธุ์ไม้ มีไม้มีค่าที่สำคัญๆ เช่น พญาไม้ ตะเคียนทอง หลุมพอ จำปา ยาง ยูง บุนนาค ตะแบก อินทนิล ตะเคียนทราย มะม่วงป่า ไข่เขียว รักเขา ฯลฯ ชนิดพันธุ์ไม้พื้นล่างที่พบ เช่น หวายชนิดต่างๆ ไม้ไผ่ เฟิร์น กล้วยป่า ฯลฯ
(4) สัตว์ป่า มีช้างป่า 2 โขลง โขลงหนึ่ง 11 ตัว อีกโขลงหนึ่ง 7 ตัว อาศัยอยู่ในป่าพะโต๊ะ ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว สัตว์ป่าอื่นๆที่อาศัยอยู่ เช่น สมเสร็จ กระทิง หมี เก้ง ลิง ค่าง หมูป่า เลียงผา กระรอก งูเห่า งูจงอาง งูเหลือม เต่า ตะพาบน้ำ นกหว้า นกกาฮัง นกเงือก นกกางเขน นกเขา นกแซงแซว นกขุนทอง นกกระราง นกขมิ้น นกกระจาบ ไก่ป่า ฯลฯ
(5) อื่นๆ อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว มีสัตว์เฉพาะถิ่นที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียงที่ทราบกันทั่วไปอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ มีการค้นพบ “ปูเจ้าฟ้า” (Phricotelphusa Sirindhon Naijanetr) ปูน้ำตกชนิดใหม่ของโลก พบครั้งแรกที่บริเวณน้ำตกหงาว จังหวัดระนอง
1.2 ทรัพยากรอื่น
มีแหล่งดีบุกและดินขาว ในท้องที่ตำบลหาดส้มแป้น ตำบลบางริ้น ตำบลหงาว และตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง
1.3 ข้อมูลเกี่ยวกับดิน
ลักษณะของดินในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว ส่วนใหญ่เป็นดินกลุ่มชุดที่ 26 ลักษณะดิน เป็นดินร่วนเหนียว สีแดง พื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง ลักษณะดินอยู่ในกลุ่มชุดที่ 5,354 (ข้อมูลจากสถานีพัฒนาที่ดิน) โดยที่ลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินร่วนเหนียว ดังนั้นในบริเวณที่เป็นภูเขาสูงหรือพื้นที่ลาดชันจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิด Erosion สูง

การเดินทาง
การเดินทางคมนาคมสะดวกสบาย การเดินทางจากตัวเมืองไปตามถนนเพชรเกษม (เส้นทางระนอง – ภูเก็ต) ประมาณ 13 กิโลเมตร ฝั่งซ้ายตรงข้ามภูเขาหญ้า แยกเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร