WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร
ตั้งอยู่ภายในบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ห่างจากฝั่งแม่น้ำไปตามถนนมาลัยแมน อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ก่อตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 20 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2539 ขณะที่ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศไทย พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกรออกแบบขึ้น เพื่อนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ของอารยธรรมจีนที่ยาวนานถึง 5,000 ปี

หอเกียรติยศ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21
ตั้งอยู่ริมถนนสุพรรณบุรี – ชัยนาท ทางหลวงหมายเลข 340 ตำบลสนามชัย ภายในศูนย์ราชการกรมศิลปากร เกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องประชาชน ชาวจังหวัดสุพรรณบุรีร่วมกันบริจาคเงินก่อสร้างโดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทาง ราชการ ดำเนินการออกแบบโดยกรมศิลปากร มีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ภายในจัดแสดงประวัติและผลงานของ ฯพณฯ บรรหาร  ศิลปอาชา  ตั้งแต่วัยเด็กกระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หอเกียรติยศ ฯ ประกาศจัดตั้งเป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตแก่เยาวชน

เปิดให้บริการวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น.  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0 3553 5119 - 21  โทรสาร 0 3553 5120

ตลาดสามชุก หรือตลาดริมน้ำร้อยปี

ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 340 (สุพรรณบุรี-ศรีประจันต์)กิโลเมตรที่115-116 เป็นสถานที่รวบรวมวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านภาคกลางมีพื้นที่ 100 กว่าไร่ แบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ เช่น  หมู่บ้านชาวนาแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย มีลานนวดข้าว  คอกควาย  โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่  บ้านเรือนไทยภาคกลาง  เรือนแต่ละหลังมีกิจกรรมสำหรับผู้สนใจ เช่น เรือนแพทย์แผนไทย การนวดแผนไทย และการใช้สมุนไพร เรือนโหราศาสตร์ มีลานแสดงควาย วันจันทร์-ศุกร์  มีการแสดงรอบ 11.00 น. และ 15.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ มีการแสดงรอบ 11.00 น., 14.30 น. และ 16.00 น. ด้านหน้าทางเข้ามีร้านขายสินค้าที่ระลึกของบ้านควายสำหรับนักท่องเที่ยว บ้านควายเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00–18.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 150 บาท เด็ก 100 บาท

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานกรุงเทพฯ โทร. 0 2270 0395-7   สำนักงานสุพรรณบุรีโทร. 0 3558 1668 หรือที่เว็บไซด์ www.buffalovillages.com


ตลาดเก่าศรีประจันต์บ้านเจ้าคุณ  
ตลาดศรีประจันต์เป็นตลาดค้าส่งในอดีตริมแม่น้ำท่าจีน อายุราว 100 ปี ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประจำปี 2551 รางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม อยู่ห่างจากตัวเมืองสุพรรณไปทางทิศเหนือ 20 กิโลเมตร อาคารส่วนใหญ่เป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น แม้ในปัจจุบันจะลดความคึกคักลงไปบ้าง แต่ในทุกวันเสาร์ อาทิตย์ชาวบ้านจะเปิดร้านจำหน่ายอาหารคาวหวานรสชาติดั้งเดิมจำหน่ายแก่นัก ท่องเที่ยว อาทิ ก๋วยเตี๋ยวเป็ด ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า หมี่กรอบ กาแฟโบราณ และขนมต่าง ๆ ทั้งแบบไทยและจีน  ในตลาดศรีประจันต์ มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงการศึกษา คือ บ้านเจ้าคุณ ป.อ.ปยุตโต ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นคนดีศรีประจันต์ และเป็นพระสงฆ์ไทยซึ่งได้รับการยกย่องเป็นกวีทางศาสนาพุทธ และเป็นเพชรน้ำเอกของโลก มีผลงานในการเขียนหนังสือกว่า 300 เล่ม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ บ้านของท่านซึ่งเคยเป็นร้านขายผ้าเมื่อในอดีตได้รับการอนุรักษ์ให้คงอยู่ สภาพเดิม รวมทั้งเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้เมื่อยุคเกือบ 100 ปีก่อนไว้อย่างดี   นอกจากนี้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนตลาดศรีประจันต์ยังสามารถสักการะศาลเจ้า แม่กวนอิม หรือล่องเรือชมแม่น้ำท่าจีนได้  หากต้องการพักค้างแรม ในตัวอำเภอก็มีบริการที่พักอยู่ 2 – 3 แห่ง  การเดินทางโดยรถโดยสาร สามารถใช้บริการรถสองแถวสายสุพรรณ – ศรีประจันต์ มาลงที่ตลาดศรีประจันต์โดยตรง  รายละเอียดดูได้ที่เว็บไซต์ www.siprachan.com

ตลาดเก้าห้อง
ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 เทศบาลตำบลบางปลาม้า  ไปตามทางหลวงหมายเลข 340 กิโลเมตรที่ 87-88 (เลยแยกเข้าอำเภอบางปลาม้า ไปประมาณ 1 กิโลเมตร) เข้าไปอีกประมาณ 2.4 กิโลเมตร(ทางไปวัดลานดุก) เป็นตลาดเก่าแก่ซึ่งเป็นย่านการค้าที่รุ่งเรืองริมแม่น้ำสุพรรณบุรี หรือแม่น้ำท่าจีนเมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีมาแล้ว ปัจจุบันยังคงเห็นสภาพตลาดริมน้ำแบบอดีตที่ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ โดยมีหอดูโจร โรงสีเก่า ศาลเจ้า และบ้านเก้าห้อง (ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามตลาด) เป็นสิ่งก่อสร้างในอดีตที่น่าสนใจ  มีการจัดทำพิพิธภัณฑ์ตลาดเก้าห้องให้ผู้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้  ชุมชนแห่งนี้แม้จะเงียบเหงาไปบ้าง แต่ในทุกวันอาทิตย์ชาวบ้านจะนำสินค้าอาหารคาวหวานมาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว ผู้มาเยือน มีทั้งขนมเปี๊ยะ ขนมจันอับ กระหรี่พัฟ ขนมถ้วยฟู กาแฟโบราณ ห่านพะโล้ ก๋วยเตี๋ยวเรือ ราดหน้า ผัดไทย เป็นต้น สอบถามเพิ่มเติมได้ที่  โทร. 0 3558 7044, 08 1704 2183, 08 1763 4133

อุทยานแห่งชาติพุเตย
มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 198,422 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ ป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำและป่าเขาห้วยพลู อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรีและวนอุทยานถ้ำเขาวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี  มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าชุกชุม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารด้านการเกษตรของจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัด กาญจนบุรี บนยอดเขามีป่าสนสองใบหลายพันต้นและยังเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม

หอคอยบรรหาร-แจ่มใส และ สวนเฉลิมภัทรราชินี
ตั้งอยู่ถนนนางพิม เป็นสวนสาธารณะมีเนื้อที่ 17 ไร่  ในสวนมีสถานที่ต่างๆให้แวะชมไม่ว่าจะเป็นหอคอยบรรหาร-แจ่มใส อาคารแสดงผลงานของฯพณฯบรรหาร สวนน้ำพร้อมสไลเดอร์ สวนลายไทย  สวนนกพิราบ  สวนดอกไม้ สนามเด็กเล่น น้ำพุดนตรี สนามออกกำลังกาย ประชาชนนิยมมาเดินเล่นและออกกำลังกายในสวนตอนเย็นๆ  เวลากลางคืนจะมองเห็นหอคอย  เปิดไฟเป็นจุดเด่นของเมืองสุพรรณบุรี

บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ
เป็นบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,700 ไร่ อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองสุพรรณประมาณ 64 กิโลเมตร บึงฉวากมีพื้นที่ติดต่อกับอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาทและอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนที่อยู่ในเขตอำเภอเดิมบางนางบวชมีพื้นที่ประมาณ 1,700 ไร่ บึงฉวากได้รับประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่ามาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2526 และในปีพ.ศ. 2541 ได้รับการจัดให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติตามอนุสัญญาแรม ซาร์ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี เนื่องจากความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ที่มีในบึง ลักษณะที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ คือ พื้นที่ลุ่ม พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ลุ่มชื้นแฉะ พื้นที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วม น้ำขัง พื้นที่พรุ พื้นที่แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้าง ทั้งที่มีน้ำขังหรือน้ำท่วมถาวรและชั่วคราว ทั้งแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล แหล่งน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลและทะเลในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดต่ำสุด น้ำลึกไม่เกิน 6 เมตร ซึ่งบึงฉวากเข้าข่ายลักษณะดังกล่าว คือเป็นบึงน้ำจืดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีความลึกเฉลี่ยประมาณ 1–3 เมตร พื้นที่บึงฉวากอยู่ในความดูแลของหน่วยราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตรและอุตสาหกรรม เป็นต้น

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย  
อยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 31 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 322 (สุพรรณบุรี-ดอนเจดีย์) ประกอบด้วย พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพระคชาธารออกศึก และ องค์เจดีย์ยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในสงคราม ยุทธหัตถีที่ทรงมีต่อพระมหาอุปราชาแห่งพม่าเมื่อเดือนมกราคมในปี พ.ศ.2135 และในปี พ.ศ. 2495 กองทัพบกได้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลมใหญ่ สูง 66 เมตร ฐานกว้างด้านละ 36 เมตร ครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จไปประกอบพิธีบวงสรวงและเปิดพระบรมรา ชานุสรณ์ดอนเจดีย์เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2502 ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 25 มกราคม ของทุกปี ต่อมาทางราชบัณฑิตได้คำนวณแล้วพบว่าวันทางจันทรคติที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถี คือวันจันทร์เดือน 2 แรม 2 ค่ำ จุลศักราช 954 ตรงกับวันที่ 18 มกราคม จึงเปลี่ยนวันดังกล่าวเป็นวันถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์และ ถือเป็นวันกองทัพไทย พร้อมกันนั้นทางจังหวัดได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ ทุกปี

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง  
อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) ห่างจากฝั่งแม่น้ำไปตามถนนมาลัยแมน เดิมเป็นศาลไม้ทรงไทยมีเทวรูปพระอิศวรและพระนารายณ์สวมหมวกเติ๊ก(หมวกทรง กระบอก) สลักด้วยหินสีเขียว  ปัจจุบันได้สร้างศาลเป็นรูปวิหารและเก๋งจีน  เจ้าพ่อหลักเมืองนี้เป็นพุทธประติมากรรมสลักบนแผ่นหินแบบนูนต่ำในพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน แบบศิลปเขมรอายุราว พ.ศ.1185–1250 หรือประมาณ 1,300-1,400 ปีมาแล้ว มีพระนามว่า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือที่เรียกกันว่า พระนารายณ์สี่กร เป็นที่สักการะบูชาทั้งชาวไทยและชาวจีน ตามประวัติกล่าวว่า ประมาณ 150 ปีมาแล้วมีผู้พบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จมดินจมโคลนอยู่ริมคลองศาลเจ้าพ่อ  จึงได้ช่วยกันอัญเชิญขึ้นข้างบนพร้อมกับสร้างศาลเป็นที่ประทับ  ในคราวเสด็จประพาสต้นเมื่อ พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จทรงกระทำพลีกรรมเจ้าพ่อหลัก เมืองและพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อเขื่อนรอบเนินศาล ทำชานสำหรับคนบูชา สร้างกำแพงแก้ว ต่อตัวศาลออกมาเป็นเก๋งแบบจีน  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์กับเจ้าพระยายมราช ทรงสนพระทัยในการปรับปรุงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเมื่อในราว พ.ศ. 2480 ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ของจีน  จะมีพิธีงานประเพณี  “ทิ้งกระจาด” (หรือ พิธีทิ้งทาน) จัดที่สมาคมจีน ซึ่งเป็นพิธีกรรมของพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ถือเป็นการจำเริญเมตตาแก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว โดยนำสิ่งของต่างๆ ที่ผู้ตายใช้สอยและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ มาแจกแก่ผู้ยากจน  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3552 1690

วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร  
ตั้งอยู่ที่ริมถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่หน้าบันของวิหารวัดป่าเลไลยก์มีเครื่องหมายพระมหามกุฎอยู่ ระหว่างฉัตรคู่ บอกให้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จธุดงค์มาพบสมัยยังทรงผนวชอยู่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงมาปฏิสังขรณ์ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างในสมัยที่เมืองสุพรรณบุรีรุ่งเรือง ในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแตทรงให้มอญน้อยมาบูรณะวัดป่าเลไลยก์ภายหลัง พ.ศ. 1724 ที่วัดแห่งนี้ประชาชนนิยมมานมัสการ “หลวงพ่อโต” ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารสูงเด่นเห็นแต่ไกล เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิมีลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุอีกข้างหนึ่งในท่าทรงรับของถวาย องค์พระสูง 23.46 เมตร รอบองค์ 11.20 เมตร มีนักปราชญ์หลายท่านว่า หลวงพ่อโตเดิมคงเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สร้างไว้กลางแจ้งเหมือนพระพนัญเชิงในสมัยแรกๆ เพราะมักจะพบว่า พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สร้างในสมัยก่อนอยุธยาและอยุธยาตอนต้น ส่วนมากชอบสร้างไว้กลางแจ้งเพื่อให้สามารถมองเห็นได้แต่ไกล ภายในองค์พระพุทธรูปนี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลาย จำนวน 36 องค์ หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้ เคียง ทุกปีจะมีงานเทศกาลสมโภชและนมัสการหลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์ 2 ครั้ง คือ ในวันขึ้น 7-9 ค่ำ เดือน 5 และเดือน 12

วัดพระรูป  
ตั้งอยู่ที่ถนนขุนช้าง ริมฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ตรงข้ามตลาดสุพรรณบุรี วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มีอายุอยู่ในสมัยอู่ทองตอนปลาย ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ก่ออิฐถือปูน ยาว 13 เมตร สูง 3 เมตร ชาวบ้านเรียกว่า เณรแก้ว พระพักตร์กลมยาวคล้ายผลมะตูม ผินพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าสร้างในราว พ.ศ. 1800-1893 และถือว่าเป็นพระนอนที่มีพระพักตร์งามที่สุดในประเทศไทย

อีกสิ่ง หนึ่งที่น่าชม ได้แก่ พระพุทธบาทไม้ เป็นโบราณวัตถุที่หาค่าไม่ได้ ศิลปะการแกะสลักงดงามมาก มีขนาดยาว 221.5 เซนติเมตร กว้าง 74 เซนติเมตร หนา 10 เซนติเมตร ทำจากไม้ประดู่แกะสลักทั้ง 2 ด้าน มีเพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย เดิมพระพุทธบาทไม้อยู่ที่วัดเขาดิน เมื่อตอนเกิดศึกไทย-พม่า พระภิกษุรูปหนึ่งเกรงจะถูกทำลาย จึงนำล่องลงมาทางน้ำแล้วเอาขึ้นที่วัดพระรูป นอกจากนี้ยังมี เจดีย์อู่ทองและซากเจดีย์สมัยทวารวดี ระฆังสัมฤทธิ์ และธรรมาสน์สังเค็ด (วัตถุที่ถวายแก่สงฆ์ผู้เทศน์หรือผู้ชักบังสุกุลเมื่อเวลาปลงศพ) ฝีมือช่างอยุธยาตอนปลาย และที่นี่ยังเป็นกรุของ “ พระขุนแผน ” อันมีชื่อเสียงอีกด้วย

วัดแค
เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อปรากฏในวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” อยู่ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุไปทางเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในวัดนี้มีต้นมะขามใหญ่วัดโคนต้นโดยรอบได้ประมาณ 9.50 เมตร อายุประมาณ 1,000 ปี เชื่อกันว่าขุนแผนได้เรียนวิชาเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อตัวแตนจากต้นมะขามต้น นี้กับท่านอาจารย์คงเพื่อใช้เวลาโจมตีข้าศึก ใกล้กับต้นมะขามยักษ์นี้ทางจังหวัดได้สร้างเรือนไทยทรงโบราณเรียกว่า “คุ้มขุนแผน” เพื่อเป็นอุทยานวรรณคดีและเป็นการอนุรักษ์ศิลปด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสวัดแค เมื่อ พ.ศ. 2447 วัดนี้มีโบราณวัตถุที่น่าสนใจ ได้แก่ พระพุทธบาทสี่รอย ทำด้วยทองเหลืองกว้าง 1.40 เมตร ยาว 2.80 เมตร สร้างซ้อนกันไว้ในรอยใหญ่ นอกจากนี้ยังมี พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบศิลปรัตนโกสินทร์  จีวรและอังสะเป็นลายดอกพิกุลงดงามมาก  ประดิษฐานอยู่ในวิหารหน้าพระประธาน  สิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น ระฆังทองเหลือง หม้อต้มกรักทองเหลือง ตู้ใส่หนังสือที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายเมื่อปี พ.ศ. 2412

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาวนาไทย
ตั้งอยู่ที่ถนนพระพันวษา ตำบลท่าพี่เลี้ยง ในบริเวณที่ว่าการอำเภอเมืองสุพรรณบุรี เป็นอาคารคอนกรีต ออกแบบผสมผสานระหว่างเรือนไทยและยุ้งฉางของชาวนา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการทำนาโดยไม่ได้จัดแสดงศิลปะ โบราณวัตถุ ชั้นล่าง จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของการทำนา เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา ประเพณีวิถีชีวิตของชาวนา เรื่องราวของข้าวในอดีต และที่น่าสนใจ คือ การพบเศษภาชนะดินเผาที่บ้านบางปูน ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งอาจเป็นหลักฐานพระราชพิธีแรกนาขวัญในสมัยอยุธยา ชั้นบน จัดแสดงพระราชจริยวัตรพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูชาวนาไทยทรงพัฒนาการทำนาและการเกษตรของชาติ มีการจัดแสดงภาพจำลองเหตุการณ์พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๙ ณ แปลงนาสาธิต บึงไผ่แขก ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ทรงทำปุ๋ยหมัก หว่านและเก็บเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง และยังคงเก็บรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงใช้ นอกจากนี้ชั้นล่างยังมี ห้องค้นคว้าข้อมูล สำหรับค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัตถุที่จัดแสดง พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ ( ปิดวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 09.00–16.00 น. โทร. 0 3552 2191

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตร  
ตั้งอยู่ตำบลพลับพลาไชย เป็นศูนย์จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนางานด้านพันธุ์พืชและฝึกอาชีพการเกษตร ทั้งในด้านการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการ การอนุบาล และการขยายเพิ่มปริมาณการกระจายพันธุ์ การปลูก การส่งเสริม และการฝึกอบรมวิทยาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายในศูนย์มีสิ่งที่น่าสนใจ คือ โรงเรียนอนุบาลและผลิตพืชเพาะเลี้ยง 7 โรงเรือน ที่ควบคุมการทำงานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับระบบต่างๆ ของโรงเรือนอนุบาลพืช ได้แก่ ระบบทำความเย็น ระบบพ่นหมอก ระบบควบคุมอุณหภูมิ ระบบควบคุมความเข้มของแสง ระบบการให้แสง ระบบควบคุมศัตรูพืช ระบบการวางพืช ระบบการให้น้ำ ระบบการให้ปุ๋ย ระบบฆ่าเชื้ออุปกรณ์และวัสดุอนุบาล ระบบเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ ระบบควบคุมการทำงานโดยคอมพิวเตอร์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ตึกอำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) ตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 72160 โทร. 0 3555 1399

วัดหน่อพุทธางกูร (เดิมชื่อ วัดมะขามหน่อ)  
ตั้งอยู่ที่ตำบลพิหารแดง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ เลยวัดพระลอยไปทางเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 3507 กิโลเมตรที่ 3 เป็นวัดเงียบสงบสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภายในพระอุโบสถหลังเก่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ ค่อนข้างสมบูรณ์ชัดเจน เป็นจิตรกรรมที่มีความงดงาม เขียนราว พ.ศ. 2391 ในสมัยรัชกาลที่ 3

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  
อยู่ถนนสมภารคง แยกจากถนนมาลัยแมนไปประมาณ 300 เมตร เขตตำบลรั้วใหญ่ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ในสมัยก่อนเป็นศูนย์กลางของเมืองสุพรรณภูมิ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง มีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี ปรางค์องค์ประธานเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่ถูกลักลอบขุดค้นหาทรัพย์สินจนทรุดโทรมไปมาก กรุในองค์พระปรางค์นี้เป็นต้นกำเนิดพระพิมพ์ผงสุพรรณบุรีที่โด่งดังมาก อันเป็นหนึ่งใน “เบญจภาคี” 5 พระเครื่องยอดนิยม อันได้แก่ พระสมเด็จนางพญาของสมเด็จพระพุทธาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร พระผงสุพรรณ จังหวัดสุพรรณ พระสมเด็จนางพญา จังหวัดพิษณุโลก พระทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชรและพระรอด จังหวัดลำพูน นักโบราณคดีหลายท่านให้ความเห็นว่า ปรางค์องค์นี้น่าจะเป็นศิลปะการก่อสร้างสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ เพราะจากหลักฐานการก่อสร้างองค์ปรางค์เป็นการก่ออิฐไม่ถือปูน ซึ่งเป็นวิธีการเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา

ถ้ำเวฬุวัน

ตั้งอยู่ในบริเวณวัดวังคัน ห่างจากอำเภอด่านช้างประมาณ 14 กิโลเมตร ห่างจากทางเข้าอุทยานแห่งชาติพุเตย 1 กิโลเมตร มีบันไดคอนกรีตขึ้นถึงบริเวณปากถ้ำ จำนวน 61 ขั้น สภาพภายในถ้ำมีไฟฟ้าสว่างพอให้นักท่องเที่ยวเห็นสภาพภายในถ้ำ ซึ่งมีหินงอกและหินย้อยสวยงาม และมีพระพุทธรูปจำลองปางป่าเลไลยก์ให้นักท่องเที่ยวได้สักการะบูชา นอกจากนั้นในบริเวณวัด ทางอำเภอได้จัดทำเป็นสวนไผ่เทิดพระเกียรติ มีพันธุ์ไผ่ต่าง ๆ ปลูกไว้ประมาณ 10 กว่าชนิด

 


วัดหัวเขา  
ตั้งอยู่หมู่ 2 ตำบลหัวเขา ในตัวอำเภอเดิมบางนางบวช ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 60 กิโลเมตร ผ่านเข้าตัวอำเภอเดิมบางนางบวช แล้วไปตามทางหลวงหมายเลข 3350 ประมาณกิโลเมตรที่ 2-3 เมื่อถึงวัดหัวเขาจะเห็นบันไดขึ้น-ลงเขาทำด้วยคอนกรีตจำนวนรวม 212 ขั้น ทุกปีทางวัดจะจัดงานประเพณีตักบาตรเทโว ซึ่งเป็นพิธีทำบุญของชาวไทยในเทศกาลออกพรรษา งานเริ่มหลังจากวันออกพรรษา 1 วัน คือ แรม 2 ค่ำ เดือน 11 มีผู้คนมาร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก

วัดขวางเวฬุวัน

วัดขวางเวฬุวัน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณในสมัยทวารวดี หรือเมืองนเรศ (ภาษาท้องถิ่น) อายุประมาณ 400 ปี เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ อิฐโบราณ เป็นบ้านเกิดของนักร้องชื่อดัง คือ สายัณห์ สัญญา แหล่งกำเนิดของสามเสือสุพรรณ คือ เสือดำ นามสกุล สะราคำ เสือใบ เสือฝ้าย

 

 


วัดลาดสิงห์
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านสระ ริมถนนเลียบคลองชลประทาน ที่แยกจากทางหลวงหมายเลข 3038 ประมาณ 7 กิโลเมตรระหว่างอำเภอดอนเจดีย์และอำเภอศรีประจันต์ เป็นวัดเก่าแก่เดิมชื่อ “วัดราชสิงห์” มีคำเล่าสืบทอดกันมาว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างวัดนี้ขึ้นมาภายหลัง จากที่ประสบชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีและทรงทราบข่าวว่า พระสุพรรณกัลยาที่เป็นตัวประกันอยู่ที่เมืองพม่าถูกประหารชีวิต เป็นการล้างแค้นที่พระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ด้วยพระแสงของ้าว พระองค์จึงทรงสร้างวัดเพื่ออุทิศพระกุศลให้แด่พระสุพรรณกัลยา ปัจจุบันวัดยังมีร่องรอยประวัติศาสตร์ ที่กล่าวถึงคือ “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปศิลาแลง ปางสะดุ้งมาร (มารวิชัย) เกตุบัวตูม อายุประมาณ 500 ปี ภายในบริเวณเป็นที่ประดิษฐานของอนุสาวรีย์ 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระสุพรรณกัลยา ให้ประชาชนทั่วไปได้กราบไหว้บูชาในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

วัดสามชุก  
ตั้งอยู่เลขที่ 3 หมู่ 1 ตำบลสามชุก มีพื้นที่ 20 ไร่ อยู่เหนือที่ว่าการจังหวัดสุพรรณบุรี 34 กิโลเมตร ห่างจากถนนสุพรรณบุรี - ชัยนาท 600 เมตร เป็นวัดเก่าแก่โบราณไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใดมีสิ่งที่เป็น หลักฐานว่าเป็นวัดเก่า คือรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานในมณฑป กรมศิลปากรได้จดทะเบียนเป็นวัตถุโบราณ พระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานในมณฑปเป็นพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยา ปัจจุบันปฏิสังขรณ์และนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานบนศาลาการเปรียญ และยังมีหงส์สัมฤทธิ์ 1 คู่ อดีตตั้งอยู่หน้ามณฑป ปัจจุบันอยู่ที่หอสวดมนต์ 1 ตัวและที่กุฏิพิพิธภัณฑ์ 1 ตัว บริเวณหอสวดมนต์ประดิษฐานหลวงพ่อธรรมจักร พระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ชาวบ้านนิยมมาสักการะบูชาเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่กับวัดมาช้านาน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 3557 1791, 0 3557 2755

วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม (เดิมชื่อ วัดเขาพระ)  
ห่างจากจังหวัดประมาณ 34 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ถนนมาลัยแมน ในตัวอำเภออู่ทอง ใกล้หอนาฬิกาบรรหาร-แจ่มใส เข้าซอยไปประมาณ 2 กิโลเมตร  เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าตั้งแต่สมัยทวารวดี เพราะมีโบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น  พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ซึ่งสลักจากเนื้อหิน เทวรูปจักรนารายณ์เนื้อหิน บนยอดเขาพบซากเจดีย์อยุธยา 1 องค์ และยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองแกะสลักด้วยหินเขียวธรรมชาติ ประดิษฐานไว้ในมณฑปบนยอดเขาอีกด้วย  ทุกปีมีงานนมัสการพระพุทธไสยาสน์ 2 ครั้ง คือ วันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 12 กับวันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 5

วัดบ้านกร่าง  
เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุร่วม 400 ปี เป็นวัดที่มีกรุพระขุนแผนบ้านกร่าง เป็นเนื้อดินเผาศิลปะอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับ พระมหาอุปราช เมื่อตอนยกทัพกลับผ่านอำเภอศรีประจันต์ ได้พักทัพริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ทรงรับสั่งให้ทหารสร้างพระเครื่องซึ่งเล่ากันว่า เป็นจำนวนถึง 84,000 องค์ บรรจุในกรุวัดบ้านกร่าง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ทหารที่เสียชีวิต พระพิมพ์บ้านกร่างคู่เป็นพระที่มีความหมายมาก ในการสร้างพระครั้งนี้แม่พิมพ์แกะเป็นสององค์คู่กัน โดยสมมติให้เป็นองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ พระรูปแบบนี้หายากในกรุอื่นๆ ทั่วประเทศไทย

วัดพร้าว

อยู่ที่ตำบลโพธิ์พระยา ติดกับประตูน้ำโพธิ์พระยา เลยวัดพระนอนไปทางเหนือ ห่างจากจังหวัดประมาณ 9 กิโลเมตร ภายในวัดมีวิหารลักษณะเด่น คือ เลียนแบบสถาปัตยกรรมพม่า หลังคาซ้อนชั้นทรงสูง มีความงดงามแปลกตา เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ด้านหลังวัดยังมีหอไตรกลางน้ำ ตู้พระธรรม สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ บนต้นหว้าหลังวัดเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวแม่ไก่จำนวนนับพันตัวเกาะห้อย หัว ตัวใหญ่เท่าแม่ไก่ สีดำเต็มไปหมด

วัดสนามชัย  
ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลสนามชัย ริมทางหลวงหมายเลข 340 ห่างจากจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 57 ไร่ อยู่ริมแม่น้ำสุพรรณบุรีฝั่งตะวันออก จากพงศาวดารเหนือเล่าว่า พระเจ้ากาแต ทรงให้มอญน้องผู้เป็นญาติสร้างขึ้นพร้อมกับบูรณะวัดป่าเลไลยก์ สันนิษฐานว่าสร้างก่อนปี พ.ศ. 1746 พบซากเจดีย์ขนาดใหญ่และกำแพงแก้วพร้อมเจดีย์บริวารเล็กๆ ทั้งสี่ทิศ เมื่อปี พ.ศ. 2504–2505 กรมศิลปากรขุดแต่งองค์เจดีย์ ภายในกลวง พบอัฐิธาตุป่นปนกับเถ้าถ่านจำนวนมากบรรจุไว้ในองค์เจดีย์ นักโบราณคดีให้ข้อสันนิษฐานและคำอธิบายว่า เจดีย์วัดสนามชัย เป็นเจดีย์ 16 เหลี่ยม กว้างด้านละ 48 เมตร ยาวด้านละ 62 เมตร สันนิษฐานจากศิลปะการก่อสร้างว่ามีการสร้างซ้อนกันอย่างน้อย 2 สมัย ตั้งแต่สมัยทวารวดี-สมัยอู่ทอง (คือช่วงปลายทวารวดีต่อสมัยอยุธยา) และสมัยอยุธยา

อุทยานมัจฉา วัดป่าพฤกษ์  
อยู่ที่ตำบลบ้านแหลม ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 17 กิโลเมตร ทางหลวงหมายเลข 340 กิโลเมตรที่ 86 จะเห็นป้ายทางเข้าจากนั้นไปตามทางหลวงหมายเลข 3351 กิโลเมตรที่ 10 บริเวณหน้าวัดมีฝูงปลาโดยเฉพาะปลาสวาย ปลาเทโพ ปลานิล เป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวสามารถยืนชม และให้อาหารปลาได้อย่างใกล้ชิดบริเวณริมแม่น้ำซึ่งทางวัดก่อสร้างเป็นเขื่อน ทางเท้าริมน้ำยาวประมาณ 100 เมตร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี 

  ตั้งอยู่ริมถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท(ทางหลวงหมายเลข 340) ตำบลสนามชัย ภายในศูนย์ราชการกรมศิลปากรจังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วยวิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี หอจดหมายเหตุแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรีเฉลิมพระเกียรติ และโรงละครแห่งชาติภาคตะวันตกจังหวัดสุพรรณบุรี ที่จัดตั้งขึ้นตามโครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง สนองแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายในอาคารนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี ได้จัดแสดงประวัติฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองสุพรรณบุรีในอดีต พัฒนาการของเมืองสุพรรณบุรีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี ลพบุรี อยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์

เวลาเปิด-ปิด : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. เว้นวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (วันปีใหม่และวันสงกรานต์)

อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 3553 5330


กำแพงเมืองเก่า และประตูเมือง   
ตั้งทางด้านทิศตะวันตกของเมืองทำแข็งแรงเป็นพิเศษสองชั้น มีคูน้ำกั้นอยู่ชั้นนมืองสุพรรณบุรีเก่าอยู่ที่ตำบลรั้วใหญ่ (บ้านขุนช้าง) ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี โดยยังหลงเหลือแนวกำแพงดินและคูเมืองให้เห็นระหว่างทางไปวัดป่าเลไลยก์กับ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง กำแพอก มีเนินดิน และกำแพงอยู่ชั้นในยาวถึง 3,500 เมตร ส่วนด้านกว้างกำแพงยาว 1,000 เมตร จดแม่น้ำ ด้านตะวันออกไม่พบตัวกำแพง เพราะถูกรื้อในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระราชดำริไว้ในพระราชหัตถเลขา เรื่อง เสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า บรรยายภาพกำแพงเมืองสุพรรณบุรีว่า “ เมืองสุพรรณบุรีมีกำแพงเป็นสองฟากเหมือนเมืองพิษณุโลกยื่นขึ้นไปจากฝั่งแม่ น้ำราว 25 เส้น ดูกว้างประมาณ 6 วา นอกเชิงเทิน ” ส่วนประตูเมืองตั้งอยู่ริมถนนมาลัยแมนบนแนวกำแพงเมืองเก่า ประตูเมืองที่เห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ตามแบบกรมศิลปากรตรงสถานที่ซึ่ง สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของประตูเมืองเดิม

วัดพระลอย  
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลรั้วใหญ่ เลยวัดแคไปไม่ไกล สาเหตุที่สร้างวัดนี้น่าจะมาจากที่มีพระพุทธรูปปางนาคปรกเนื้อหินทรายขาวลอย มาตามแม่น้ำท่าจีน(แม่น้ำสุพรรณ) จึงได้ทำพิธีอาราธนาขึ้นมาจากแม่น้ำ สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยลพบุรี นอกจากนี้ยังมีโบสถ์ที่ปรักหักพังสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ทางวัดได้ปฏิสังขรณ์โดยสร้างโบสถ์ใหม่ครอบ และยังมีอุโบสถจตุรมุขใหญ่ สูงเด่น สง่างาม ประดิษฐานพระพุทธนวราชมงคล สวยงามมาก และมีพระพุทธรูปเนื้อหินทรายปางต่างๆ เก่าแก่มาก บริเวณท่าน้ำหน้าวัดเป็นที่สงวนพันธุ์สัตว์น้ำ มีฝูงปลาหลายชนิดผู้มาเที่ยวชมสามารถให้อาหารปลาได้ ถือเป็น อุทยานมัจฉา อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี

วัดพระธาตุศาลาขาว  
อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปตามถนนมาลัยแมน (ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ) ทางหลวงหมายเลข 321 ไปประมาณ 16 กิโลเมตร ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 145 วัดมหาธาตุตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดสวนแตง ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดพระธาตุนอก เพราะลักษณะพระปรางค์คล้ายกับพระปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุแต่ขนาดย่อม กว่า มีความสูงประมาณ 20-25 เมตร จากสภาพที่หลงเหลือปัจจุบันเป็นพระปรางค์เดี่ยว มีบันไดและซุ้มประตู ยอดพระปรางค์มนกว่ายอดพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งมียอดแหลม แผ่นอิฐมีขนาดเล็ก และสอด้วยปูนหวาน เนื้อหยาบ จากหลักฐานของโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบได้จากพระปรางค์ สันนิษฐานได้ว่า วัดนี้สร้างในราว พ.ศ. 1967-2031 ในรัชสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) หรือพระบรมไตรโลกนาถ ปัจจุบันพระธาตุอยู่ในสภาพทรุดโทรม

วัดเขาขึ้น หรือ วัดเขานางบวช (วัดพระอาจารย์ธรรมโชติ)
ห่างจากจังหวัดประมาณ 51 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 340 กิโลเมตรที่ 138-139 มีทางลาดยางขึ้นไปจนถึงวัดซึ่งตั้งอยู่บนเขานางบวช หรือจะเดินขึ้นบันได 249 ขั้น ไปจนถึงยอดเขาก็ได้ พระอาจารย์ธรรมโชติเป็นพระที่มีความสำคัญในศึกชาวบ้านบางระจัน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านเครื่องรางของขลัง ชาวบ้านบางระจันจึงนิมนต์ไปเป็นขวัญและกำลังใจในการสู้รบกับพม่า ภายในวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ด้านนอกวิหารจะเห็น เจดีย์หินแผ่น เป็นหินแผ่นบางๆ วางซ้อนเป็นรูปเจดีย์ขนาดไม่สูงมากตั้งอยู่ติดกับวิหาร ในโบสถ์หลังใหม่มีรูปปั้นอาจารย์ธรรมโชติ เมื่อยืนอยู่บนยอดเขาสามารถชมทิวทัศน์อันสวยงามของอำเภอเดิมบางนางบวชได้ อย่างทั่วถึง

วัดไผ่โรงวัว  
ตั้งอยู่ที่ตำบลบางตาเถร ห่างจากตัวจังหวัดสุพรรณบุรีประมาณ 43 กิโลเมตร หรือห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 70 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี มีทางแยกซ้ายก่อนถึงสามแยกลาดบัวหลวงเข้าสู่วัดไผ่โรงวัว หรือ หากมาตามทางหลวงหมายเลข 3422 กิโลเมตรที่ 18-19 วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2469 เป็นวัดที่มีพุทธศาสนิกชน และบุคคลทั่วไปนิยมไปเที่ยวชมกันมากเพราะท่านพระครูอุทัยภาคาธร (หลวงพ่อขอม) ได้ดำเนินการก่อสร้าง “พระพุทธโคดม” เป็นพระพุทธรูปโลหะสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่สำคัญหลายแห่ง เช่น “สังเวชนียสถาน 4 ตำบล” คือ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนาและปรินิพพาน มีส่วนที่แสดงงานประติมากรรม เกี่ยวกับพุทธประวัตินรกภูมิ สวรรค์ภูมิ  นอกจากนี้ยังมี  “พระกะกุสันโธ” พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้านหน้าพระพุทธรูปมี  “ฆ้อง และบาตร”  ใหญ่ที่สุดในโลก  และยังมี “พระวิหารร้อยยอด” และ “พระธรรมจักร” หล่อด้วยทองสำริดใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกมากมาย เป็นวัดที่โดดเด่นวัดหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านยะมะรัชโช  
ตั้งอยู่ที่ถนนหมื่นหาญ ตำบลท่าพี่เลี้ยง ใกล้สะพานอาชาสีหมอก ไม่ไกลจากโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช บ้านหลังนี้เคยเป็นบ้านของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และเป็นอดีตเสนาบดี 3 กระทรวงคือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงนครบาลและกระทรวงโยธาธิการ ลักษณะบ้านเป็นเรือนหมู่ สภาพปัจจุบันเหลือตัวเรือนเดิม เรือนนอน 2 หลัง หอกลาง 1 หลัง หอนั่งสร้างใหม่แทนของเดิม 1 หลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จบ้านหลังนี้ 2 ครั้ง และได้พระราชทานชื่อบ้านไว้ ต่อมาจังหวัดฯ ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์บ้านยะมะรัชโช โดยส่งเข้าประกวดโครงการดีเด่นในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในเมือง ได้รับรางวัลพร้อมโล่และใบประกาศเกียรติคุณ ปัจจุบันนี้บ้านยะมะรัชโชเป็นของกองทุนมูลนิธิพระยาสุนทรสงคราม (ปุย สุวรรณศร) สนใจชมบ้านยะมะรัชโช ติดต่อโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช โทร. 0 3550 2784-8, 0 3552 4088-98 ติดต่อ แผนกธุรการ
โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก
ตั้งอยู่ริมถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท (ทางหลวงหมายเลข 340) ตำบลสนามชัย  ภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมภาคตะวันตกจังหวัดสุพรรณบุรี  เป็นโรงละครภูมิภาคขนาด  850  ที่นั่ง  ซึ่งกำหนดให้สร้างขึ้นสำหรับภาคตะวันตกของประเทศ  เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านการแสดง  ให้บริการทางวิชาการด้านนาฏศิลป์ ดนตรี  รวมทั้งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่าง ชาติ  ประจำภาคตะวันตก  มีการจัดการแสดงละครและกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมโดยนักเรียนของวิทยาลัยนา ฎศิลปให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม  ทุกวันเสาร์ที่ 1, 2 และ 3  สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่  โทร. 0 3553 5112  อัตราบัตรเข้าชมราคา 40 บาท 60 บาทและ 80 บาท

วัดเดิมบาง
ห่างจากจังหวัดประมาณ 55 กิโลเมตร สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ ธรรมาสน์ที่สร้างโดยช่างชาวจีน เป็นศิลปะไทยผสมจีน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2458 สร้างเสร็จ พ.ศ. 2466 ปัจจุบันเก็บไว้บนศาลาการเปรียญ นอกจากนั้นที่หอสวดมนต์ยังเก็บของมีค่าของวัดไว้ 3 ชิ้น ได้แก่ ฝาบาตรมุก ตาลปัตร และปิ่นโต ซึ่งรัชกาลที่ 5 พระราชทานแก่วัด ทางวัดเก็บรักษาไว้อยู่ในสภาพดี และยังมีมณฑปและหอระฆังที่ก่อสร้างอย่างประณีตสวยงาม ส่วนภายในพระอุโบสถที่บูรณะใหม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสภาพสมบูรณ์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง  
ตั้งอยู่ที่ถนนมาลัยแมน ติดกับที่ว่าการอำเภออู่ทองและโรงเรียนอู่ทองศึกษาลัย เป็นสถานที่รวบรวมศิลปะโบราณวัตถุในสมัยต่าง ๆ ที่ขุดค้นพบ แสดงวิวัฒนาการของมนุษย์ยุคต่าง ๆ ที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแถบสุพรรณบุรี แบ่งออกเป็น 2 อาคาร คือ อาคารที่ 1 จัดแสดงการค้นพบเมืองอู่ทองสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยวัฒนธรรมทวารวดี พระพุทธรูปสมัยทวารวดี อาคารที่ 2 จัดแสดงห้องชาติพันธุ์วิทยาและลูกปัดที่ค้นพบในเมืองอู่ทองตั้งแต่สมัยก่อน ประวัติศาสตร์ถึงสมัยทวารวดี ส่วนลานกลางแจ้งสร้างเป็นเรือนแบบลาวโซ่ง จัดแสดงวัฒนธรรมประเพณี การแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวลาวโซ่ง 

เวลาเปิด-ปิด : พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. 

อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท 

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3555 1021, 0 3555 1040

วัดเขาดีสลัก  
ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลดอนคา ห่างจากอำเภออู่ทอง 8 กิโลเมตร หรือห่างจากตัวเมือง 14 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทที่มีมงคล 108 ประการ สลักไว้อย่างวิจิตรงดงาม เป็นรอยพระพุทธบาทจำลองสลักบนแผ่นหินทรายสีแดง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สลักเป็นรูปนูนต่ำ ลายกลีบบัวโดยรอบพระบาท ปลายนิ้วพระบาทยาวไม่เสมอกัน ข้อนิ้วพระบาทมี 2 ข้อ โดยข้อนิ้วพระบาทข้อแรกทำลายขมวดเป็นรูปก้นหอยตามคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะหรือ มหาปริสลักขณะ ดังที่พรรณนาไว้ในปฐมสมโพธิกถาฉบับภาษาบาลี รวมทั้งในคัมภีร์ลิลิตวิสูตรฉบับภาษาสันสกฤต ข้อนิ้วที่ 2 ทำเป็นลายก้นขดหรือใบไม้ม้วนลักษณะคล้ายกับลวดลายพันธุ์พฤกษาซึ่งนิยมใน ศิลปะแบบทวารวดีซึ่งจะเห็นได้ทั่วไปจากลวดลายปูนปั้นประดับ ศาสนสถานหรือลวดลายประดับประติมากรรม อันเนื่องในพุทธศาสนาในสมัยทวารวดี บริเวณฝ่าพระบาททำเป็นรูปธรรมจักรขนาดเล็กมีกงล้อธรรมจักรจำนวน 16 ซี่ อยู่กลางฝ่าเท้าและรายล้อมด้วยภาพสลักรูปมงคล 108 ประการ อยู่ในกรอบวงกลม มีลักษณะแตกต่างจากรอยพระพุทธบาทที่พบที่อื่น คือ รอยพระพุทธบาทนูน ขนาดกว้างประมาณ 65.5 เซนติเมตร ยาว 141.5 เซนติเมตร นักโบราณคดีให้ความเห็นว่าเป็นศิลปะสมัยทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-16 มีทางรถขึ้นไปชมรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ทางวัดปรับปรุงภูมิทัศน์บนยอดเขา มองเห็นวิวทิวทัศน์สวยงามในเขตอำเภออู่ทองโดยรอบ นอกจากนี้ยังพบโพรงหินภายในมีพระพุทธรูป และโบราณวัตถุต่าง ๆ อีกหลายชนิด เนื่องจากเขานี้เป็นแหล่งโบราณคดีที่อยู่บนเส้นทางคมนาคมของชุมชนโบราณ

สวนนกท่าเสด็จ (หน่วยอนุรักษ์นกท่าเสด็จ)  
 ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเสด็จ ตำบลสระแก้ว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 15 กิโลเมตร ไปตามทางสายสุพรรณบุรี-ดอนเจดีย์ (ทางหลวงหมายเลข 322) กิโลเมตรที่ 6-7 เข้าถนนคันคลองไปประมาณ 2 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 200 เมตร สวนนกแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ดินของป้านก พันธุ์เผือก และลุงจอมกับป้าถนอม มาลัย เดิมเป็นสวนผลไม้ในระยะแรกยังมีนกไม่มาก ต่อมานกเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เจ้าของที่ดินเป็นคนใจดีจึงปล่อยให้นกมาอาศัยทำรังจนนกเพิ่มเป็นจำนวนนับ หมื่นตัว นับเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วมีนกหลายชนิด เช่น นกปากห่าง นกกระสา นกยาง และนกช้อนหอย เป็นต้น ต่อมาทางราชการเข้ามาดำเนินการพัฒนาสวนนกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด สุพรรณบุรี อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้และจัดตั้งเป็นหน่วยอนุรักษ์นกท่าเสด็จ มีหอดูนกไว้ขึ้นชมนกจากมุมสูง ในเวลากลางวันจะมีนกให้ชมอยู่บ้าง ส่วนในตอนเย็นจะเห็นนกบินกลับรังจนดูมืดฟ้ามัวดิน ช่วงที่มีนกมาก คือ ในช่วงเดือนตุลาคม

วัดพระนอน
ตั้งอยู่ตำบลพิหารแดง  เลยวัดหน่อพุทธางกูรไปเล็กน้อย วัดพระนอนนี้อยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีน สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในวัดมี  อุทยานมัจฉา อยู่บริเวณริมน้ำหน้าวัด มีปลานานาชนิดชุกชุม ทั้งปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาแรด ทางวัดประกาศเป็นเขตอภัยทาน ปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ผลและไม้ประดับ บริเวณวัดจึงร่มรื่นสวยงาม และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ขึ้นหน้าขึ้นตาแห่งหนึ่งของจังหวัด  และยังมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์สลักจากหิน มีลักษณะแปลกกว่าที่อื่น  คือ  เป็นพระพุทธรูปอยู่ในลักษณะนอนหงายขนาดเท่าคนโบราณยาวประมาณ 2 เมตร  ลักษณะคล้ายกับพระนอนที่เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย  สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า  และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งใน Unseen Thailand อีกด้วย

วัดประตูสาร  
อยู่ที่ถนนขุนช้าง ตำบลรั้วใหญ่ ภายในเขตเทศบาลเมือง เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ไม่มีหลักฐานเก่าระบุว่าสร้างเมื่อใด แต่คงจะสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2379 ซึ่งเป็นปีที่สุนทรภู่มาสุพรรณบุรี ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติ ฝีมือช่างหลวง เชื่อกันว่า เป็นคนเดียวกับที่เขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดหน่อพุทธางกูร เขียนราว พ.ศ. 2391 นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมที่เขียนบนพื้นไม้เป็นแผ่นๆ เรื่องพุทธประวัติและมหาชาติ ลักษณะของภาพเหมือนจะลอกแบบจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ เก็บรักษาอยู่ในวิหาร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 3554 3598

เขื่อนกระเสียว  
อยู่ที่ตำบลด่านช้าง ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยกระเสียว ของกรมชลประทาน เป็นเขื่อนดินกักเก็บน้ำสร้างกั้นลำห้วยกระเสียว ยาว 4,250 เมตร สูง 32.50 เมตร ปริมาณน้ำที่สามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุด 240 ล้านลูกบาศก์เมตร นับเป็นเขื่อนดินที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทยและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง นักท่องเที่ยวที่ต้องการขึ้นไปชมทิวทัศน์บริเวณสันเขื่อนต้องเดินขึ้นบันได จากลานจอดรถด้านล่าง เมื่อขึ้นไปถึงจะมองเห็นทิวทัศน์กว้างไกลสุดสายตาถึงเขาพุเตย มีร้านอาหารส้มตำไก่ย่างบริการใกล้ลานจอดรถ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เขื่อนกระเสียว โทร. 0 3559 5120

กลุ่มทอผ้าพื้นบ้านเมืองจกลวดลายโบราณลาวซี่-ลาวครั่ง  

ตำนานผ้าทอโบราณ จก ขิด ลาวซี สาวครั่ง ลาวซี ลาวครั่ง เป็นชนชนชาติไทยที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ ส่วนหนึ่งมาตั้งถิ่นฐานอยู่ตำบลป่าสะแก ตำบลบ่อกรุ และตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง โดยเฉพาะวัฒนธรรมการแต่งกายที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ คือ ผ้าฝ้าย ที่ทอด้วยมือ ย้อมสีจากธรรมชาติ มีการตัดเย็บผ้าด้วยมือ ทอไว้ใช้กันในครัวเรือนเป็นผ้าสิ้นตีนแดง ผ้าขาวม้า ผ้าโพกหัวนาค ผ้าพื้น หมอนหนุน หมอนท้าว ผ้าบังหน้ามุ้ง มุ้ง ผ้าขาวม้า 5 สี

ที่ทำการบ้านเลขที่ 25/1 หมู่ 5 (บ้านทุ่งก้านเหลือง) ตำบลป่าสะแก อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี 72120 ภายใต้การนำโดย นางสมจิตร ภาเรือง โทร.08 9926 2864


บึงระหาร  
อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 38 กิโลเมตร เป็นบึงขนาดใหญ่ มีถนนรอบบึงมีร้านอาหารและศาลาสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน

บ้านขาม  
อยู่ในเขตตำบลพลับพลาชัย อำเภออู่ทอง  จากสุพรรณบุรีใช้เส้นทางหมายเลข 321 ถึงบ้านสวนแตง แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3416 จนไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 333 เลี้ยวขวามุ่งไปทางอำเภอด่านช้าง หมู่บ้านอยู่ห่างจากตัวจังหวัดราว 22 กิโลเมตร ห่างจากบ้านดอนคาราว 3 กิโลเมตร
พื้นเพดั้งเดิมเป็นชาวลาวที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ มีฝีมือในการทอผ้าตีนจก หรือผ้าทอมัดหมี่ที่มีเอกลักษณ์ มีทั้งทำเป็นปอกหมอน ชุดเสื้อผ้าและกระเป๋าถือสีสดสวย มีบริการโฮมสเตย์ ติดต่ออาคารศูนย์กลางชุมชน

ศูนย์บริหารศัตรูพืชโดยชีวภาพ  
ตั้งอยู่ที่ตำบลพลับพลาไชย ห่างจากตัวอำเภออู่ทอง ไปตามเส้นทาง อู่ทอง-ด่านช้าง ประมาณ 6 กิโลเมตร ถึงโรงงานน้ำตาลเลี้ยวซ้าย ข้ามสะพานคลองชลประทานแล้วเลี้ยวขวาเลียบคลองชลประทาน ประมาณ 10 กิโลเมตร ศูนย์ฯ อยู่ซ้ายมือ เป็นสถานที่เผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสม ผสาน ได้แก่ การผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติ(ตัวห้ำ ตัวเบียน) พืชสมุนไพร เชื้อโรคและเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์สำหรับป้องกันกำจัด ศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมี นอกจากนี้ยังถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้แก่ เกษตรกร ภายในศูนย์ฯ มีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่ โรงเรือนเพาะเลี้ยงและขยายแมลงศัตรูธรรมชาติ, โรงเรือนปลูกพืชไร้ดิน, แปลงสาธิตการปลูกพืชปลอดสารพิษ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริหารศัตรูพืชโดยชีวภาพ ตำบลพลับ-พลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 72160 โทร. 0 3548 1126

แหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดสุพรรณบุรี
จังหวัด สุพรรณบุรี ได้ปรับปรุงสถานที่สองแห่งให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาเชิงเกษตรที่ทันสมัย ได้แก่ ศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีโรงเรือนเพาะเลี้ยงแมลง เชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืช พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวนา สวนสมุนไพร สวนตุ๊กตากระถาง แปลงพืชสาธิต ฯลฯ อีกแห่งคือที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตร ซึ่งมีโรงเรือนอนุบาลและผลิตพืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 7 โรงเรือน ที่ควบคุมการทำงานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้งสองแห่งยังมีภูมิทัศน์สวยงาม เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้เป็นอย่างดี สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี

สวนพืชไร้ดิน Soilless Culture Center  
ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 ตำบลวังน้ำซับ ริมถนนกรุงเทพฯ-สุพรรณฯ-ชัยนาท(ทางหลวงหมายเลข 340) บนเนื้อที่ 200 ไร่ ปลูกพืชผักตามฤดูกาลและผักเมืองหนาวด้วยวิธีไม่ใช้ดิน โดยปลูกบนแผ่นฟองน้ำ ทราย กรวด ขี้เลื่อยหรือในสารละลายธาตุอาหารแทนปราศจากศัตรูพืช วัชพืช และสารป้องกันโรคพืช ทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคปลอดภัยจากสารพิษ นับเป็นนวัตกรรมความดิดริเริ่มใหม่ที่มุ่งพัฒนาด้านการเกษตรของไทย สิ่งที่น่าสนใจภายในสวนพืชไร้ดิน ได้แก่ สวนพืชไร้ดินที่สมบูรณ์และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บนเนื้อที่ 200 ไร่, แปลงพืชไร้ดินที่ยาวที่สุดในโลก 72 เมตร(เฉลิมพระเกียรติในวโรกาส 72 พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ), บ่อเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาเศรษฐกิจหลากหลายพันธุ์, ผักไร้สารพิษ 100 % จากฟาร์ม, สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อที่สวนพืชไร้ดิน โทร. 0 3556 1000, 08 6399 4545 กรุงเทพฯ โทร. 0 2435 0400-11 เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. (มีวิทยากรนำชม)

วัดทับกระดาน  
ไปตามทางหลวงหมายเลข 3387 ประมาณ 7 กิโลเมตร แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 3351 กิโลเมตรที่ 10 อำเภอสองพี่น้องเป็นอำเภอบ้านเกิดของพุ่มพวง ดวงจันทร์ นักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังซึ่งมีคนนิยมฟังเพลงของเธอมากมายและได้เสียชีวิต ไป ทำให้แฟนเพลงเสียใจกันมาก จึงมีการเก็บรวบรวมเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้ในการร้องเพลง รวมทั้งรูปถ่ายจากข่าวหนังสือพิมพ์ไว้ในโบสถ์ของวัดนี้ เนื่องจากพุ่มพวงคุ้นเคยกับวัดนี้ตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้บริเวณศาลาท่าน้ำจะมีรูปวาดของพุ่มพวง ดวงจันทร์ที่มีคนนำมาให้เพื่อแก้บน ด้านหน้าวัดมีร้านขายของสด แห้งต่างๆ เช่น น้ำพริก หน่อไม้ ผลไม้ต่างๆ ทุกปีจะมีการจัดงานครบรอบวันเสียชีวิตของนักร้องผู้นี้ มีผู้คนมาร่วมงานจำนวนมาก

 
โบราณสถานบึงหนองสาหร่าย  
อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร เลยพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 3038 ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามยุทธหัตถีสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับ พระมหาอุปราชาแห่งพม่า สมเด็จพระนเรศวรทรงเลือกบริเวณหนองสาหร่ายเป็นที่ตั้งทัพ เพราะน้ำบริเวณหนองสาหร่ายมีมากพอที่จะให้ทหารจำนวนแสนคน พร้อมช้าง ม้าได้อาศัยเป็นเวลาแรมเดือน ประกอบกับเป็นชัยภูมิที่ตั้งสูงห่างข้าศึก ปัจจุบันสภาพหนองน้ำตื้นเขินและมีเนื้อที่เหลือที่เป็นหนองน้ำเพียง 29 ไร่ บริเวณโดยรอบมีต้นไม้เรียงรายร่มรื่น เนื่องจากสภาพทรุดโทรมนักท่องเที่ยวไม่นิยมมาท่องเที่ยว

 
สระศักดิ์สิทธิ์  
อยู่ในเขตตำบลสระแก้ว ริมถนนสายดอนเจดีย์-สุพรรณบุรี (ทางหลวงหมายเลข 322) กิโลเมตรที่ 7-8 ตรงข้ามทางเข้าสวนนกท่าเสด็จ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 13 กิโลเมตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จมาทอดพระเนตรสระศักดิ์สิทธิ์ที่ตำบลนี้ จึงเป็นเหตุให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น บ้านท่าเสด็จ สระศักดิ์สิทธิ์เดิมพบเพียง 4 สระ คือ สระแก้ว สระคา สระยมนา สระเกษ ต่อมาพบอีก 2 สระ คือ สระอมฤต 1 และสระอมฤต 2 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชหัตถเลขาไว้ว่า “…แต่เหตุไฉนที่สระนี้ขลังนักไม่ปรากฏ คงจะมีตัวครูบาที่สำคัญเป็นอันมาก น้ำในสระก็ไม่ใช้ ปลาในสระก็ไม่กิน สระมีหญ้าขึ้นรกเต็มไปหมด มีจระเข้อาศัยอยู่ทั้งสี่สระ…น้ำสระคา สระยมนา ไม่สู้สะอาด มีสีแดง แต่น้ำสระเกษ สระแก้วใสสะอาด…” น้ำในสระทั้งหมดนี้ใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาและพระราชพิธีสระน้ำ มูรธาภิเษกตามลัทธิพราหมณ์ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนจัดตั้งสระน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นโบราณสถานไว้ แต่ยังไม่ได้รับการปรับปรุง

 
ตลาดโพธิ์พระยา  
ตั้งอยู่ที่ตำบลโพธิ์พระยา ซึ่งเป็นตลาดดั้งเดิมที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2468 ภายหลังจากการสร้างเขื่อนประตูน้ำโพธิ์พระยา สภาพเดิมเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ชาวไทยเชื้อสายจีนได้รวมตัวกันประกอบอาชีพค้าขาย มีความเจริญรุ่งเรืองทางการค้ามาแต่อดีต เนื่องจากการติดต่อกับตังเมืองสุพรรณบุรี จะต้องใช้เส้นทางทางน้ำเป็นทางสัญจร ตลาดโพธิ์พระยาจึงเป็นจุดรวมของผู้คนที่ต้องการเดินทางสัญจรไปมาระหว่าง โพธิ์พระยา กับตัวเมืองสุพรรณบุรี ในปี พ.ศ. 2540 ชาวตลาดโพธิ์พระยาต้องประสบอัคคีภัยเป็นครั้งแรก สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ทางสุขาภิบาลโพธิ์พระยา จึงได้ดำเนินการก่อสร้างตลาดสดโพธิ์พระยาขึ้นมา เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน และในเวลาต่อมา ตลาดโพธิ์พระยาก็ได้เกิดอัคคีภัยเป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2547 ส่งผลให้ชาวตลาดโพธิ์พระยาได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างแสนสาหัส อาคารโครงสร้างไม้เดิมได้ถูกเพลิงไหม้เสียหาย จำนวน 41 หลัง ทรัพย์สินมอดไหม้เป็นเถ้าถ่านในพริบตา ปัจจุบันบริเวณที่ดินเดิมได้ดำเนินการพัฒนาก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์สองชั้น ครึ่ง จำนวน 81 ห้อง

 
ศูนย์ฝึกอบรมช่างสิบหมู่สุพรรณบุรี  
ตั้งอยู่ที่ ถ.มาลัยแมน ต.รั้วใหญ่ ตั้งอยู่ตรงข้ามวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดสุพรรณบุรี ติดกับสนามกีฬาจังหวัด ดำเนินงานโดยกรมศิลปากร มีนโยบายในการฝึกอบรมงานช่างสิบหมู่ในสาขาวิชาดังนี้ หมู่ช่างเขียน หมู่ช่างรัก หมู่ช่างแกะ หมู่ช่างสลัก หมู่ช่างหล่อ หมู่ช่างหุ่น หมู่ช่างบุ หมู่ช่างปูนและหมู่ช่างกลึง เพื่อเป็นการสนับสนุนแฃะสืบสานงานศิลปะและวัฒนธรรม อันเป็นมรดกล้ำค่าของชาติที่ควรอนุรัษ์สืบต่อไป

 
ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8  
ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนกำยาน ริมถนนมาลัยแมน เลยวัดป่าเลไลยก์ไปทางอำเภออู่ทองประมาณ 1 กิโลเมตร ตรงข้ามสวนน้ำสุพรรณบุรี ศูนย์นี้จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมในครอบครัว และหัตถกรรมในเขตพื้นที่ 14 จังหวัดภาคตะวันตก มีอาคารแสดงนิทรรศการผลงานผลิตภัณฑ์หัตถกรรมฝีมือดีเด่นสวยงามประเภทต่าง ๆ เช่น เครื่องหนัง เสื้อผ้า เครื่องหวาย จากในเขตพื้นที่ดูแล รวมทั้งจัดจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปในราคาย่อมเยา เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00–16.00 น.โทร. 0 3554 5518–9

 


 
 
 
แนะนำสถานทีท่องเที่ยว กราบไหว้พระเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต และครอบครัว หรือคนที่เรารัก และยังได้ท่องเที่ยวอีกต่างหาก ซึ่งใช้เวลาภายในวันเดียว ก็สามารถท่องเที่ยวได้ ....
1
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
2
วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร
3
วัดพระรูป
4
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
5
วัดแค
6
วัดพระนอน
7
วัดประตูสาร
8
วัดไผ่โรงวัว
9
วัดบ้านกร่าง