WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

วัดพระบรมธาตุวรวิหาร

ตั้งอยู่ที่บ้านท้ายเมือง ตำบลชัยนาท เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ภายในวัดนี้มีเจดีย์พระบรมธาตุรูปแบบสถาปัตยกรรมอู่ทองบรรจุพระบรม สารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในจังหวัดชัยนาท และจังหวัดใกล้เคียง มีงานเทศกาลสมโภชพระบรมธาตุในวันเพ็ญเดือน 6 เป็นประจำทุกปี

สิ่งสำคัญในวัดพระบรมธาตุคือ 
เจดีย์พระบรมธาตุ องค์พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ องค์เจดีย์เป็นทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสซึ่งต่อมุมขึ้นไปรองรับ ใต้องค์ระฆังมีซุ้มจระนำเล็กๆทั้ง 4 ด้าน ภายในประดิษฐาน พระปรางค์นาคปรกทั้ง 4 ทิศ หน้าบันของซุ้มจระนำมีสองชั้นซ้อนกัน มีปูนปั้นประดับเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบเหนือฐานบัวหงาย 4 กลับอยู่ตรงกลาง หน้าตักกว้าง 23 เซนติเมตร สูงจากฐานจรดพระเศียร 31 เซนติเมตร ทรงจีวรแบบห่มตอง หรือห่มเฉียง ผ้าสังฆาฏิพาดลงมาเกือบถึงฝ่าพระบาท ลักษณะของพระเศียรและพระพักต์มีเค้าของศิลปะลพบุหรือหรืออู่ทองรุ่นแรก ระหว่างซุ่มจระนำนี้มีผนังทำเป็นมุมเหลี่ยม ขึ้นไปรองรับองค์ระฆัง และเหนือมุมระหว่างหน้าบันของซุ้มจระนำยังทำเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปอีกหลายองค์เรียงรายอยู่โดยรอบ จากนั้นถึงองค์ระฆังทรงกลมรองรับ ปลีย่อส่วนบนสุดมีลักษณะเป็นโลกประดับ ทำนองเป็นฉัตรประดับอีกต่อหนึ่ง จัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบอู่ทอง(อยุธยาตอนต้น)ที่นิยมใช้เจดีย์เล็กๆประดับ 

วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด สันนิฐานว่าเดิมคงสร้างขึ้นพร้อมเจดีย์พระบรมธาตุ แต่มีร่องการการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในระยะหลัง ปัจจุบันพระวิหารดังกล่าวเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 24 เมตร 

พระอุโบสถ อยู่ทางด้านใต้ติดกับพระวิหาร เชื่อว่าสร้างกับพระวิหาร มีร่องรอยการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง ขนาดกว้าง 9 เมตร ยาว 24 เมตร มีพระประธานภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปแบบสรรคบุรี ลงรักปิดทองขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปแบบสรรคบุรีโดยเฉพาะ รอบนอกพระอุโบสถมีใยเสมาสลักด้วยหินทราย เป็นศิลปกรรมแบบอยุธยาปรากฏอยู่ 

แผ่นศิลาจารึก สมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระซึ่งมีข้อความกล่าวงถึงการฉลองการบูรณปฏิสังขรณ์ พระบรมธาตุเจดีย์ ปัจจุบันแผ่นศิลาจารึกนี้ ประดิษฐานอยู่ที่ฝาผนังวิหารด้านหลังติดกับองค์พระธาตุ 

การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวเมืองชัยนาทประมาณ 4 กิโลเมตร จากอำเภอเมืองใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 340 จนถึงสี่แยกตัดกับเส้นทางหลวงหมายเลข 3183 เลี้ยวซ้ายประมาณ 1 กิโลเมตร หรือรถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ – วัดสิงห์