WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

วัดปากคลองมะขามเฒ่า (วัดหลวงปู่ศุข)
ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ เป็นวัดที่ตั้งอยู่บริเวณปากคลองมะขามเฒ่า (แม่น้ำท่าจีน) แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา สาเหตุที่เรียกว่า “วัดปากคลองมะขามเฒ่า” เนื่องจากเดิมมีต้นมะขามเก่าแก่อยู่ต้นหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัด วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มีทิวทัศน์ที่สวยงามน่ารื่นรมย์ และมีชื่อเสียงด้านพระเครื่องด้วยหลวงปู่ศุข แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงปู่ศุขเป็นเกจิอาจารย์ที่ประชาชนทั่วไปต่างเลื่อมใสศรัทธาท่านในด้าน ความศักดิ์สิทธิ์ ด้วยตำนานที่ยังเล่าขานกันสืบมาในเรื่องของวิชาอาคมและเครื่องรางของขลัง ความนิยมในพระเครื่องหลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่ายังมีอยู่สูงมากใน ปัจจุบัน แม้ว่าท่านจะมรณภาพไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 แต่ความเคารพศรัทธานั้นไม่เคยเสื่อมคลาย หลวงปู่ศุขยังได้สร้างพระเครื่องที่เรียกว่า “หลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่า” ซึ่งประชาชนนิยมนำไปสักการะบูชา ความเชื่อและวิธีการบูชา ชาวจังหวัดชัยนาทและชาวไทยทั่วทุกสารทิศที่ศรัทธาในหลวงปู่ศุข เชื่อกันว่าบารมีของท่านจะช่วยดลบันดาลให้ผู้ที่มากราบไหว้ขอพรถึงวัดปาก คลองมะขามเฒ่า มีความสุขสมความปรารถนา มีสิริมงคลต่อชีวิตและแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง และยังเชื่อในการบูชาเครื่องรางของขลังของหลวงปู่ศุข ว่าให้คุณทั้งในด้านโชคลาภ เมตตามหานิยม และแคล้วคลาดอยู่ยงคงกระพัน เปิดให้สักการะทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00-11.00 น. และ 14.00-17.00 น.

การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองชัยนาทประมาณ 25 กิโลเมตร ไปทางอำเภอวัดสิงห์ตามทางหลวงหมายเลข 3183 กิโลเมตรที่ 36–37

วัดมหาธาตุ

ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลแพรกศรีราชา เดิมชื่อว่าวัดพระธาตุ หรือวัดหัวเมือง เป็นวัดเก่าแก่โบราณคู่เมืองแพรกหรือเมืองสรรค์ เมื่อ พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสและทรงมีลายพระหัตถ์บันทึกไว้ โบราณสถานที่น่าสนใจและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ พระปรางค์กลีบมะเฟือง (พูมะเฟือง) สร้างด้วยอิฐถือปูน 3 องค์ พระปรางค์มีลักษณะคล้ายกลีบมะเฟือง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม (ฐานเขียง) เป็นศิลปะสมัยลพบุรี กรมศิลปากรได้บูรณะปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2526 นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ศิลปะแบบลพบุรีและแบบอยุธยาตอนต้น ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ซึ่งเก็บรักษาสิ่งของโบราณต่าง ๆ

การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวเมืองชัยนาทประมาณ 20 กิโลเมตร จากอำเภอเมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข 340 ถึงทางแยกเข้าอำเภอสรรคบุรี จากที่ว่าการอำเภอสรรคบุรี บริเวณหอนาฬิกา เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 500 เมตร


เขื่อนเจ้าพระยา

เป็นเขื่อนขนาดใหญ่สร้างเป็นแห่งแรกของประเทศ ตั้งอยู่ที่บริเวณคุ้งบางกระเบียน หมู่ที่ 3 ตำบลบางหลวง ลักษณะของเขื่อนมีความยาว 237.50 เมตร สูง 16.5 เมตร เขื่อนมีช่องระบาย 16 ช่อง มีประตูเรือติดกับเขื่อนด้านขวากว้าง 14 เมตร สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2500 เรือขนาดใหญ่สามารถผ่านเข้าออกได้ บริเวณเขื่อนมีความสวยงามตามธรรมชาติ ช่วงเดือนมกราคม จะมีฝูงนกเป็ดน้ำนับหมื่นตัวมาอาศัยหากินอยู่ในแม่น้ำบริเวณเหนือเขื่อน เขื่อนนี้ใช้ประโยชน์ทางด้านการชลประทาน การทดน้ำเพื่อการเกษตร โดยระบายน้ำจากแม่น้ำในภาคเหนือสู่ภาคกลางและอ่าวไทย และยังผลิตไฟฟ้าใช้ภายในจังหวัดด้วย เขื่อนเจ้าพระยา มีบ้านพักรับรองสำหรับนักท่องเที่ยวไว้บริการ จำนวน 17 ห้อง ราคา 100 บาท / คน / วัน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 5641 1559 ต่อ 302

การเดินทาง จากอำเภอเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 304 และเลี้ยวซ้ายทางไปอำเภอสรรพยา ประมาณ 6 กิโลเมตร หรือรถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ – อำเภอวัดสิงห์ จะผ่านบริเวณหน้าเขื่อน รถประจำทางสาย 1061 ชัยนาท-โพธิ์นางตำ และรถประจำทางสาย 110 สิงห์บุรี-ชัยนาท


สวนนกชัยนาท

เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดชัยนาท เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2526 ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาพลอง หมู่ที่ 4 ตำบลเขาท่าพระ ริมถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) ก่อนถึงตัวเมือง 4 กิโลเมตร สวนนกชัยนาท มีพื้นที่ 260 ไร่ มีกรงนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย ครอบคลุมพื้นทื่ 26 ไร่ โดยปล่อยพันธุ์นกต่าง ๆ ให้อยู่อย่างธรรมชาติ นอกจากนั้นยังมีกรงนกขนาดกลางและขนาดเล็กอีก 63 กรง มีสวนหย่อม สวนงู สวนกระต่าย สวนสัตว์ป่า เช่น ละมั่ง เลียงผา กวางดาว เนื้อทราย มีศาลากลางน้ำ อาคารจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก และมีพิพิธภัณฑ์ปลาน้ำจืดเป็นปลาจากแม่น้ำเจ้าพระยา 63 ชนิด เช่น ปลาเสือตอ ปลาตองลาย ปลาเสือสุมาตรา ปลากดหิน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมี 3 โครงใหม่ได้ปรับปรุงขึ้นเพื่อให้การท่องเที่ยวภายในสวนนกคุ้มค่ายิ่งขึ้น ได้แก่
1. มีศูนย์ข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยวซึ่งใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนจะได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับด้านประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต เกษตรกรรม วัฒนธรรม หัตถกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด
2. ศูนย์ผลิตภัณฑ์พื้นเมือง จัดจำหน่ายสินค้า OTOP และสินค้าตามฤดูกาลของชุมชน
3. น้ำตกจำลองที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันดินพังทลาย ตั้งอยู่เชิงเขาพลอง

     สวนนกเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.00–17.00 น. สำหรับสวนนกชัยนาท เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.00–18.00 น. อัตราค่าเช้าชมชาวไทย ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 15 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 5641 1413 การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 32 ถึงสี่แยกถนนสายเอเชีย ช่วงชัยนาท-ตาคลี เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1 ประมาณ 7 กิโลเมตร สวนนกชัยนาทจะอยู่ทางขวามือ


วัดธรรมามูลวรวิหาร
เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองชัยนาทมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่บนไหล่เขาธรรมามูล ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลธรรมามูล ห่างจากอำเภอเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ 8 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1 กิโลเมตรที่ 288-289 เข้าทางโรงเรียนธรรมานุกูล ภายในวิหารของวัดมีหลวงพ่อธรรมจักร เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติประทับบนฐานรูปดอกบัว เป็นศิลปะประยุกต์สมัยเชียงแสนตอนปลายถึงสุโขทัยตอนต้น ผสมกับสมัยอยุธยา มีรูปพระธรรมจักรปรากฎอยู่กลางฝ่าพระหัตถ์เบื้องขวา ซึ่งเข้าใจว่าเป็นความคิดของช่างสมัยนั้นที่ตั้งใจสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ให้มีเครื่องหมายแห่งมหาปุริสลักษณะ (เป็นลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ ตามคติอินเดีย เช่น ในฝ่าเท้ามีจักรลักษณะ มีลายตาข่ายในฝ่ามือฝ่าเท้า ข้อเท้าเหมือนสังข์ที่ตั้งขึ้น คางเหมือนคางราชสีห์ เป็นต้น) และสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ใบเสมา เป็นศิลาทรายสีแดงตั้งรายรอบพระอุโบสถ สลักลวดลายแบบสมัยอยุธยา ทุกปีจะมีงานนมัสการหลวงพ่อธรรมจักรเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง คือ วันขึ้น 4-8 ค่ำเดือน 6 และแรม 4-8 ค่ำ เดือน 11

วัดอินทาราม (ตลุก)

วัดอินทราราม (ตลุก) เป็นวัดโบราณตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลตลุก ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ต.ตลุก อยู่ห่างจากสายเอเซีย 3 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2390 เป็นวัดเก่าแก่อายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี ภายในวัดมีถาวรวัตถุที่ทรงคุณค่า คือ หอระฆังคู่ และหอพระไตรปิฏก เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ กว้าง 8 เมตร ยาว 9 เมตร อยู่กลางน้ำ ลักษณะเป็นทรงไทยโบราณ ประดับกระจกสี เป็นลวดลายสวยงาม รายรอบไม้ฝาและเชิงชาย ช่อฟ้าหน้าบรรณ เป็นที่เก็บพระไตรปิฏกทำจากใบลาน จารึกอักษรขอมโบราณจำนวนมาก เป็นสำนักเรียนภาษาบาลีที่มีชื่อเสียงมาแต่อดีต พระอุโบสถ มี 2 หลัง หลังเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก หลังใหม่มีอายุประมาณ 100 ปี วิหารเก่า3 หลัง ประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนมาก พระเจดีย์มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง เหนือฐานเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปแบบอู่ทองปางประทานพร มณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง หอสวดมนต์ เสาหงส์ และศาลาการเปรียญ ซึ่งเป็นเสาไม้ขนาดใหญ่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2461 

ติดต่อสอบถามได้ที่ : วัดอินทาราม หมู่ 2 ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท 17150 โทร. 0 5643 3590

การเดินทาง
ห่างจากตัวเมืองชัยนาทประมาณ 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 311 เลี้ยวซ้ายเลียบคลองชลประทาน กิโลเมตรที่ 48 


วัดพิชัยนาวาส (วัดบ้านเชี่ยน)

เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชี่ยน ห่างจากตัวเมืองชัยนาท 38 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 3211 กิโลเมตรที่ 3 สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง มีอายุไม่ต่ำกว่า 300 ปี ภายในพระอุโบสถซึ่งสร้างไว้กลางสระน้ำ มีพระประธาน คือ “หลวงพ่อโต” เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ ปั้นด้วยปูนสอ ประทับนั่งห้อยพระบาท สูง 4 เมตร 54 เซนติเมตร สันนิษฐานว่าระหว่างสร้างพระประธานองค์นี้ บ้านเมืองเกิดระส่ำระส่ายจากสงคราม เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งกองทัพจากพม่าเดินทางผ่าน วัดกำหนดจัดงานนมัสการปิดทองสมโภชระหว่างเทศกาลวันเพ็ญเดือนสาม และเทศกาลวันเพ็ญเดือนสิบสอง เป็นประจำทุกปี


วัดกรุณา

เป็นวัดที่อยู่ใกล้เขื่อนเจ้าพระยา ตรงข้ามบ้านรับรองเขื่อนเจ้าพระยา ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวชัยนาทเคารพนับถือมาก คือ พระพุทธมหาศิลา หรือ หลวงพ่อหินใหญ่ เป็นพระพุทธรูปศิลาทรายขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดชัยนาท

 

 


วัดพระแก้ว

ตั้งอยู่ที่ หมู่ 10 บ้านบางน้ำพระ ตำบลแพรก ศรีราชา อยู่ห่างจากตัวอำเภอมาทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นวัดที่สร้างสมัยเดียวกับวัดมหาธาตุ ตั้งแต่ปี พ. ศ. 1900 เดิมชื่อวัดป่าแก้ว เป็นที่ปฏิบัติธรรมของคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีหรือวิปัสสนาธุระ ต่อมามีคนพบพระพุทธรูปองค์เล็กเท่าปลายนิ้วจากในเจดีย์ สร้างจากแก้วมีหลายสีส่องประกายสวยงามเมื่อต้องแสงไฟ จึงเรียกติดปากกันมาว่าวัดพระแก้ว กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 รถประจำทางสาย 1061 ชัยนาท-โพธิ์นางตำ และรถประจำทางสาย 110 สิงห์บุรี-ชัยนาท


วัดพระบรมธาตุวรวิหาร

ตั้งอยู่ที่บ้านท้ายเมือง ตำบลชัยนาท เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ภายในวัดนี้มีเจดีย์พระบรมธาตุรูปแบบสถาปัตยกรรมอู่ทองบรรจุพระบรม สารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในจังหวัดชัยนาท และจังหวัดใกล้เคียง มีงานเทศกาลสมโภชพระบรมธาตุในวันเพ็ญเดือน 6 เป็นประจำทุกปี


วัดเขาพระ
อยู่ในอำเภอเมืองชัยนาท ตั้งอยู่เชิงเขาท่าพระ มีพระพุทธบาทจำลองอยู่บนยอดเขาแห่งนี้ ทางวัดจัดให้มีงานสมโภชปิดทองพระพุทธบาทในวันเพ็ญเดือนสาม ซึ่งตรงกับวัน มาฆบูชาทุกปี

ฟาร์มจระเข้วัดสิงห์ หรือฟาร์มจระเข้วสันต์

ตั้งอยู่ที่ 121 หมู่ 3 ตำบลมะขามเฒ่า จากอำเภอเมืองชัยนาท มาตามถนนสายชัยนาท-วัดสิงห์ (ทางหลวงหมายเลข 3183) กิโลเมตรที่ 24 ตั้งอยู่ทางซ้ายมือ
ในฟาร์มจะมีสัตว์หลายชนิด เช่น จระเข้ เสือ กวาง ปลากระเบน นกชนิดต่าง ๆ ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 5646 1104


สวนลิง

อยู่ในบริเวณวัดธรรมิกาวาส (วัดค้างคาว) ตำบลโพงาม เป็นวัดที่มีป่ายางสูงสลับซับซ้อน มีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้บริเวณหน้าวัดมีแม่น้ำน้อยไหลผ่านทำให้บรรยากาศร่มรื่น และมีรูปหล่อหลวงพ่อเฒ่า เป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านเคารพนับถือ สวนลิงอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสรรคบุรีประมาณ 16 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายสิงห์บุรี-ชัยนาท เลียบถนนคลองชลประทาน (สายใน) จะมีทางแยกเข้าวัดธรรมิกาวาส ประมาณ 500 เมตร


วัดสองพี่น้อง

ตั้งอยู่เลยวัดมหาธาตุไปประมาณ 300 เมตร ตามประวัติกล่าวว่า เจ้าอ้าย เจ้ายี่ เจ้าสาม เป็นพี่น้องกัน เจ้าสามยุยงให้เจ้าอ้ายและเจ้ายี่รบกันเพื่อแย่งราชสมบัติ เจ้าอ้ายและเจ้ายี่เสียชีวิตทั้งคู่ เจ้าสามจึงได้ครองเมือง สร้างปรางค์แด่เจ้าอ้าย สร้างเจดีย์แด่เจ้ายี่ สันนิษฐานว่าสร้างก่อนกรุงศรีอยุธยา 600 ปี ต่อมากลายเป็นวัดร้าง ชาวบ้านร่วมใจกันบูรณปฏิสังขรณ์ และกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 ภายในวัดมีปรางค์ 2 องค์ เป็นปรางค์สมัยลพบุรีองค์ใหญ่ด้านทิศตะวันออกค่อนข้างสมบูรณ์ มีลายปูนปั้นประดับประดางดงามมาก มีสภาพทรุดโทรมเนื่องจากมีรากต้นไม้ใหญ่ชอนไชเข้าไปในฐานเจดีย์ ปัจจุบันไม้ดังกล่าวถูกตัดโค่นลงปรางค์องค์เล็กอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงไต้ มีสภาพทรุดโทรม


วัดทรงเสวย

ตั้งอยู่ ณ บ้านหนองแค หมู่ที่ 1 ต.หนองน้อย อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2451 (ร.ศ.127) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินตรวจสอบลำน้ำเก่าโดยทางรถไฟถึงจังหวัดนครสวรรค์ แล้วเสด็จประทับเรือพระที่นั่งครุฑเหิรเห็จ เพื่อตรวจลำแม่น้ำมะขามเฒ่า (แม่น้ำท่าจีน) ทรงประทับแรมที่วัดหัวหาด อ.มโนรมย์ ปัจจุบันเรียกวัดนี้ว่าวัดพิกุลงาม นับเป็นการเสด็จเมืองชัยนาทเป็นครั้งที่ 3 ต่อจากนั้นวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2451 เสด็จ ฯ ตามลำน้ำมะขามเฒ่าผ่านตลาดวัดสิงห์ ลำน้ำมะขามเฒ่าสมัยนั้นเต็มไปด้วยผักตบชวาและตอไม้ ประชาชนจึงได้ช่วยกันตัดตอและเก็บผักตบชวา พระองค์ประทับไม้แรมที่หนองแค ซึ่งสมัยนั้นขึ้นกับตำบลคลองจันทร์ ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลหนองน้อย อำเภอวัดสิงห์ ในครั้งนั้น พระอธิการคล้อยเป็นเจ้าอาวาสได้ชักชวนราษฎรสร้างพลับพลารับเสด็จ พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์เสวยยอดหวายโปง ตาแป้นมรรคนายกวัดหนองแคจึงได้ให้ชาวบ้านไปหายอดหวายโปงมาเผาไฟ หยวกกล้วยต้ม น้ำพริกปลามัจฉะ มาถวาย พระองค์ทรงเสวยอย่างเจริญพระกระยาหาร และตรัสกับชาวบ้านว่า ต่อไปนี้ให้เรียกวัดนี้ว่าวัดเสวย แต่ชาวบ้านได้เติมคำว่า “ทรง” ไปด้วย จึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดทรงเสวย” จนทุกวันนี้ และที่วัดทรงเสวย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถวายของที่ระลึกแด่พระอธิการคล้อย เป็นของที่ระลึกงานพระศพของพระเจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช ของที่ถวายได้แก่ บาตร ฝาบาตรมีตราสีทองรูปวงรี มีข้อความว่า ร.ศ. 128 งานพระศพพระเจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช ปิ่นโตขนาดใหญ่ที่ฝาปิ่นโตมีข้อความเช่นเดียวกับฝาบาตร พระขรรค์ ตาลปัตรใบลาน (ปัจจุบันได้สูญหายไป) ตะเกียงลาน เรือสำปั้น ป้านน้ำชา 1 ชุด สิ่งของเหล่านี้ปัจจุบันทางวัดยังเก็บรักษาไว้อย่างดี